เมื่อเร็วๆนี้เว็บไซต์ Competency – based Education หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ได้เผยแพร่ กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ ของนักเรียนใน ช่วงชั้นที่1 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 สาระการเรียนรู้ และกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่2 มี 9 สาระการเรียนรู้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ ช่วงชั้นที่1 มี 7 สาระการเรียนรู้ ประกอบไปด้วยสาระการเรียนรู้ดังนี้
1. สาระการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
2. สาระการเรียนรู้ ภาษาไทย >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
3. สาระการเรียนรู้ ภาษาอังกฤษ >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
4. สาระการเรียนรู้ ศิลปะ >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
5. สาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
6. สาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
7. สาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
อ่านรายละเอียดทั้งหมดของช่วงชั้นที่ 1 ที่นี่
กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ ช่วงชั้นที่2 มี 9 สาระการเรียนรู้ ประกอบไปด้วยสาระการเรียนรู้ดังนี้
1. สาระการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
2. สาระการเรียนรู้ ภาษาไทย >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
3. สาระการเรียนรู้ ภาษาอังกฤษ >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
4. สาระการเรียนรู้ ศิลปะ >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
5. สาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
6. สาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
7. สาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
8. สาระการเรียนรู้ การจัดการในครัวเรือน >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
9. เทคโนโลยีดิจิทัล >> อ่านรายละเอียดแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่นี่
อ่านรายละเอียดทั้งหมดของช่วงชั้นที่ 2 ที่นี่
เหตุผลความจำเป็นของการปรับหลักสูตร
ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่าง ๆ ของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงความรู้และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ที่นำไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเกิดปรากฏการณ์สำคัญของโลก เช่น ภาวะการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างรุนแรงทั่วโลก ส่งผลให้ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่กระทบวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไม่หยุดยั้ง เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้น ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังไม่สะท้อนถึงศักยภาพของผู้เรียนที่สามารถออกไปสู่สังคมและโลกของการทำงานในอนาคตได้อย่างชัดเจน จึงเป็นความสำคัญจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของชาติ ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวและกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ ให้สอดคล้องรับกับความก้าวหน้าทางวิทยาการและการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน เพื่อสร้างคนไทยให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีความสามารถและศักยภาพในการดำรงชีวิต ปรับตนให้พร้อม รับการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะแข่งขันและร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลก
หลักสูตรการศึกษาของชาติที่ใช้ในปัจจุบัน คือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรที่กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน และมีตัวชี้วัดชั้นปีไว้ช่วยให้ผู้สอนรู้ว่าจะสอนให้ผู้เรียนรู้อะไรและทำอะไรได้ รวมทั้งเพื่อการตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียนเป็นระยะจนจบการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ หลักสูตรฉบับนี้พัฒนามาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ซึ่งคงหลักการและกรอบโครงสร้างหลักสูตรไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้ปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และสาระภูมิศาสตร์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม กล่าวได้ว่า หลักสูตรที่กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นผลลัพธ์การพัฒนานี้มีการใช้มาแล้วถึง 20 ปี
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร รวมทั้งศึกษาผลงานวิจัยของหน่วยงาน องค์กร และบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พบว่า หลักสูตรฉบับปัจจุบันแม้จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาได้จัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครอง และความพร้อมของสถานศึกษา ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แต่ได้พบประเด็นสำคัญยิ่ง คือ หลักสูตรไม่เอื้อให้สังคมไทยเกิดการพัฒนาและปรับตัวได้ทันต่อสภาวการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เนื่องจาก
- มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดมีจำนวนมาก ซ้ำซ้อน และอิงเนื้อหาค่อนข้างมาก ส่งผลให้การจัดการเรียนรู้ไม่หลากหลาย เน้นการจำเนื้อหาไปใช้เพื่อการสอบ มากกว่าการสร้างทักษะสำคัญจำเป็น เช่น ทักษะการแสวงหาความรู้ ทักษะกระบวนการ และทักษะการคิดให้กับผู้เรียน
- การเรียนรู้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เชื่อมต่อมาจากระดับปฐมวัย และเป็นช่วงเริ่มต้นของการวางพื้นฐานการเรียนรู้ หลักสูตรจัดให้เรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่นเดียวกับระดับชั้นอื่น แทนที่จะเน้นไปที่การอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ เพื่อเป็นเครื่องมือการเรียนรู้สาระอื่น ๆ ต่อไป
- การนำหลักสูตรไปใช้ โดยเฉพาะการพัฒนาเนื้อหาสาระ สื่อ และการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและเทคโนโลยี ยังไม่เพียงพอ หรือทันการที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่เพียงพอในการใช้ความรู้หรือนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือช่วยสร้างพื้นฐานให้คนไทยสามารถเผชิญปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ผลการทดสอบ PISA (Program for International Student Assessment) ที่ดำเนินการโดย OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) พบว่า นักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยคะแนนทุกด้านอยู่ในกลุ่มต่ำ สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนโดยเฉลี่ยมีความรู้และความสามารถในการใช้ความรู้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติ
นอกจากนี้ กฎหมายและยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงต่อมา ได้กำหนดจุดหมายการพัฒนาคน แนวการจัดการศึกษาของประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและสภาวะของประเทศ ดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล และมาตรา 71 กำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพและความสามารถสูงขึ้น
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดกรอบและแนวทาง
การพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับพลเมืองทุกช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต โดยจุดมุ่งหมาย
ที่สำคัญของแผนคือ ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สามารถเป็นกลไกในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของทุนมนุษย์ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืน ภายใต้พลวัตของโลกศตวรรษที่ 21 ประชากรทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาและการเรียนรู้ จากระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย และตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเพื่อยกระดับชนชั้นของสังคม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ที่เอื้อต่อการสร้างสังคมแห่งปัญญาและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาชาติ พ.ศ. 2561 ในรูปแบบของผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ (Desired Outcomes of Education: DOE) สำหรับผู้เรียน คือ การเป็นผู้เรียนรู้ การเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยมีค่านิยมร่วมคือ ความเพียรอันบริสุทธ์ ความพอเพียง วิถีประชาธิปไตย ความเท่าเทียมเสมอภาค และให้มีลักษณะนิสัยและคุณธรรมพื้นฐานที่ดีงาม เช่น ความมีวินัย ความขยัน ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ เป็นต้น
นอกจากนั้น แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พ.ศ. 2564 (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้กำหนดให้การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเป็นหนึ่งในกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rocks) เพื่อให้ประชาชนและผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสากล มีทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย มีนิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบและมีจิตสาธารณะ เป็นกำลังของประเทศในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ
จากแผนแม่บทและนโยบายแห่งรัฐที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรทุนมนุษย์เพื่อให้รากฐานของชาติมีความมั่นคง ดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข ก้าวไปสู่การแข่งขันในภูมิภาคและโลกได้อย่างสง่างามและภาคภูมิ และความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาของชาติ ให้เป็นหลักสูตรที่สามารถสร้างและพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นของผู้เรียน กระทรวงศึกษาธิการจึงอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 กำหนดให้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช…. ในลักษณะหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาสมรรถนะหลักที่สำคัญต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในโลกศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ ทั้งหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช…. ที่ปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นใหม่ มีลักษณะเป็นหลักสูตรที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เหมือนกัน ต่างกันตรงที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐานมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณภาพอย่างน้อยตามที่มาตรฐานกำหนด ส่วน (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช…. นั้น มีลักษณะเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีสมรรถนะหลักที่สำคัญจำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกคน และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้บ่มเพาะ พัฒนา และต่อยอด สมรรถนะหลักและสมรรถนะอื่นได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ จะกำหนดชุดของผลลัพธ์การเรียนรู้ตามสมรรถนะหลัก
ที่สำคัญจำเป็น (Minimum Requirements) เพื่อการพัฒนาผู้เรียนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรอบหลักสูตร
ที่ยืดหยุ่นจะเอื้อให้สถานศึกษาที่มีศักยภาพแตกต่างกัน สามารถออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับความต้องการและบริบทของตนได้ โดยยึดสมรรถนะกลางเป็นเกณฑ์เทียบเคียง ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบหลักสูตรสถานศึกษาที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย มีความเฉพาะเจาะจงในการพัฒนาผู้เรียนตามบริบทของสถานศึกษา ชุมชน และความต้องการที่แตกต่างกันของผู้เรียน
นอกจากนั้น หลักสูตรจะช่วยให้ผู้สอนปรับแนวคิดและมุมมองในการออกแบบและจัดการเรียนรู้จาก การเน้นที่เนื้อหาสาระมาเน้นสมรรถนะ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างเป็นองค์รวม ลดที่จะมุ่งการสอนเนื้อหาความรู้จำนวนมาก ลดภาระและเวลาในการสอบตามตัวชี้วัดจำนวนมาก ทำให้สถานศึกษามีพื้นที่ในการจัดการเรียนรู้ที่สำคัญจำเป็นของบริบทได้มากขึ้น ในการออกแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะได้ยึดหลักความเป็นเอกภาพของชาติในประชาคมโลก บนความแตกต่างบริบทเชิงพื้นที่ เน้นการพัฒนาผู้เรียนเฉพาะบุคคลอย่างเป็นองค์รวมที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถฟื้นคืนสภาวะสมดุลได้ ด้วยหลักการสำคัญของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังต่อไปนี้
- เป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนที่เหมาะสมตามช่วงวัย เน้นการพัฒนาผู้เรียนรายบุคคล (Personalization) อย่างเป็นองค์รวม (Holistic Development) เพื่อการเป็นเจ้าของ การเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (Life-Long Learning)
- เป็นหลักสูตรที่เชื่อมโยงระหว่างสมรรถนะหลักและสมรรถนะเฉพาะในการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) เพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตและการทำงาน
- เป็นหลักสูตรที่จัดสภาพแวดล้อมและเส้นทางการเรียนรู้ (Learning Pathway) ที่หลากหลาย และระบบสนับสนุนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพหุปัญญาและธรรมชาติของผู้เรียน
- เป็นหลักสูตรที่มีกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) การใช้สื่อและสถานการณ์การเรียนรู้ร่วมสมัย มีความหลากหลาย และยืดหยุ่น ตามความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน (Differentiated Instruction) บริบท จุดเน้นของสถานศึกษา และชุมชนแวดล้อม
- เป็นหลักสูตรที่มุ่งใช้การประเมินเพื่อการพัฒนาและสะท้อนสมรรถนะของผู้เรียนตามเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance) ที่เป็นธรรม เชื่อถือได้ เอื้อต่อการถ่ายโยงการเรียนรู้และพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นตามระดับความสามารถ
คณะอนุกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. ได้พัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรฯ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอจะให้โรงเรียนแกนนำในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่สมัครใจ จำนวน 265 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ศรีสะเกษ สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นำไปใช้ ผลที่ได้จากการใช้จะนำมาพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช…. ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กิจกรรมการเรียนรู้ และการวัดผลและประเมิน จะเป็นตัวอย่างให้กับสถานศึกษาทั่วไปนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับความหลากหลายและความแตกต่างของบริบทพื้นที่ได้
วัตถุประสงค์ของการจัดทำคู่มือ
การจัดทำคู่มือเล่มนี้ คาดหวังให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจแนวคิดและหลักการสำคัญของการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะ และ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช…. เพื่อนำไปสู่การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน
โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- เพื่อเป็นแนวทางสำหรับสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำไปใช้ในการจัดทำและทดลองใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
- เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคณะกรรมการสถานศึกษา และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งเสริมสนับสนุนการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของสถานศึกษา
- เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ อาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา นักการศึกษา นักวิชาการ ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และครูในการทำหน้าที่เป็นโค้ช หรือ พี่เลี้ยงทางวิชาการให้แก่สถานศึกษาโดยเฉพาะทางด้านการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะ รวมทั้งการบริหารจัดการหลักสูตรและการพัฒนาบุคลากร
ขอบคุณที่มาจาก : https://cbethailand.com/