ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 3/2565 วันพฤหัสบดี ที่ 24 มีนาคม 2565 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมและมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำหรับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาวิธีการและเงื่อนไขการบริหารงานบุคคลสำหรับโรงเรียนคุณภาพ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะพัฒนาโรงเรียนคุณภาพให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการแก้ปัญหาด้านการศึกษาและความปลอดภัยของโรงเรียน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในสังคมเมืองและชนบทให้กับนักเรียน สร้างความพร้อมให้กับครูและผู้บริหารโรงเรียนในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ตามบริบทของโรงเรียนและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ก.ค.ศ.จึงพิจารณาให้จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสำหรับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพ สังกัด สพฐ. โดยสรุปสาระสำคัญของร่างหลักเกณฑ์และวิธีการได้ดังนี้
1. ในหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ “โรงเรียนคุณภาพ” หมายความว่า โรงเรียนระดับประถมศึกษาหรือโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่เป็นโรงเรียนหลักในการจัดการศึกษาร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาตามประกาศของ สพฐ. สำหรับ “โรงเรียนเครือข่าย” หมายความว่า โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า ๑๒๐ คน มีการจัดการศึกษาร่วมกับโรงเรียนหลักและนักเรียนทุกชั้นเรียนได้ไปเรียนรวมกับโรงเรียนหลักด้วยแล้ว
2. เมื่อนักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายไปเรียนกับโรงเรียนหลัก และ สพฐ. ประกาศ “โรงเรียนคุณภาพ” แล้วให้คำนวณอัตรากำลังใหม่ตามเกณฑ์อัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนด กรณีคำนวณแล้วโรงเรียนคุณภาพมีอัตรากำลังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ให้บริหารอัตรากำลังข้าราชการครูฯ สายงานการสอนและสายงานบริหารสถานศึกษาของโรงเรียนเครือข่าย และบริหารอัตรากำลังโรงเรียนคุณภาพที่เกินเกณฑ์ ดังนี้
2.1 ให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน สายงานการสอนและสายงานบริหารสถานศึกษาในโรงเรียนเครือข่าย ไปกำหนดในโรงเรียนคุณภาพหรือโรงเรียนอื่นที่มีอัตรากาลังตำกว่าเกณฑ์
ทั้งนี้ ในกรณีที่ครูโรงเรียนเครือข่าย ประสงค์จะดำรงตำแหน่งในโรงเรียนคุณภาพ ซึ่งมีอัตรากำลังพอดีเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด ให้สามารถดำเนินการได้ โดยมีเงื่อนไขถ้าโรงเรียนคุณภาพมีอัตราว่างให้ตัดโอนไปกำหนดในโรงเรียนที่มีอัตรากาลังต่ำกว่าเกณฑ์
หรือ ให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน สายงานการสอนและสายงานบริหารสถานศึกษาในโรงเรียนคุณภาพที่เกินเกณฑ์ ไปกาหนดในโรงเรียนอื่นที่มีอัตรากาลังต่ำกว่าเกณฑ์
2.2 ให้ย้ายครู โรงเรียนเครือข่าย ไปแต่งตั้งในโรงเรียนคุณภาพหรือโรงเรียนอื่นที่มีอัตรากาลังต่ำกว่าเกณฑ์ โดยกำหนดคุณสมบัติกรณีย้ายปกติ “ปัจจุบันดำรงตำแหน่งครู โรงเรียนเครือข่าย โดยไม่นับระยะเวลา 24 เดือน”
2.3 ให้ย้ายผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนเครือข่าย หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนหลักไปแต่งตั้งในโรงเรียนที่มีอัตรากำลังต่ำกว่าเกณฑ์ โดยกำหนดคุณสมบัติกรณีย้ายปกติ “ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนเครือข่ายหรือโรงเรียนหลัก โดยไม่นับระยะเวลา 12 เดือน” และกำหนดขนาดสถานศึกษาที่จะนำมาพิจารณาย้าย โดยให้เทียบขนาดสถานศึกษาจากจำนวนนักเรียนโรงเรียนเครือข่ายรวมกับโรงเรียนหลัก
2. อนุมัติ กำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน ให้โรงเรียนราชวินิตมัธยม สังกัด สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 1 เป็นกรณีพิเศษ จำนวน 4 อัตรา เพื่อนำอัตรากำลังไปสรรหาข้าราชการครู ส่งไปช่วยปฏิบัติการสอนในโรงเรียนจิตรลดา
สืบเนื่องจากโรงเรียนจิตรลดาประสบปัญหาการขาดแคลนครูอย่างกะทันหัน เนื่องจากครูที่จัดการเรียนการสอนอยู่เดิม ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วยในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำให้โรงเรียนไม่สามารถสรรหาครูมาทดแทนได้ทัน ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งที่ประชุม ก.ค.ศ.เห็นว่า เพื่อให้การดำเนินภารกิจของโรงเรียนจิตรลดาเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีจึงอนุมัติกรอบอัตรากำลังของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานการสอน ให้โรงเรียนราชวินิตมัธยมสังกัด สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 1 เป็นกรณีพิเศษ โดยให้นำอัตราว่างที่ได้รับจัดสรรคืนจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 4 อัตรา ไปใช้ในการจัดสรรให้โรงเรียนราชวินิต มัธยม สังกัด สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 1 เพื่อสรรหาข้าราชการครูไปช่วยปฏิบัติการสอนที่โรงเรียนจิตลดา โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1. ไม่นำอัตรากำลังข้าราชการครูที่ได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ จำนวน 4 อัตรา ไปนับรวมกับอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด ของโรงเรียนราชวินิต มัธยมสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนำอัตราว่างที่ได้รับจัดสรรคืนจากผลเกษียณอายุราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 4 อัตรา ไปใช้ในการจัดสรรให้โรงเรียนราชวินิต มัธยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 เพื่อสรรหาข้าราชการครูไปช่วยปฏิบัติการสอนที่โรงเรียนจิตรลดา
3. การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูที่ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนจิตรลดา ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ทางราชการ และให้มีสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับเสมือนการปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาของรัฐทุกประการ
3. เห็นชอบ (ร่าง) ข้อกำหนดตามระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้ออกระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 โดยให้จัดทำทะเบียนประวัติของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งระเบียบ ก.ค.ศ. ดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลใช้บังคับวันที่ 22 มีนาคม 2565 ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้แจ้งระเบียบ ก.ค.ศ. ดังกล่าวให้ส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษาทราบแล้วนั้นสำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้จัดทำร่างข้อกำหนดของระเบียบว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 รวม 3 ฉบับ โดยได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหาร ที่ปรึกษา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้มีความถูกต้อง สอดคล้องกับระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 ซึ่ง (ร่าง) ข้อกำหนดดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. (ร่าง) ข้อกำหนดว่าด้วยการทำลาย การเข้าถึง และการสำเนาประวัติ (ตามข้อ 16 ข้อ 17 และข้อ 21 ของระเบียบฯ) ได้กำหนดรายละเอียดของการดำเนินการไว้ ดังต่อไปนี้
1.1 การทำลายทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แบบเอกสารและแบบอิเล็กทรอนิกส์
1.2 การเข้าถึงข้อมูลในระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์
1.3 การสำเนาประวัติ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ขอสำเนาประวัติผ่านระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง
2. (ร่าง) ข้อกำหนดว่าด้วยมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ (ตามข้อ 20 ของระเบียบฯ) ได้กำหนดรายละเอียดของการดำเนินการไว้ 3 ส่วน ดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 การเข้าถึงหรือควบคุมการเข้าใช้งานระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนที่ 2 การจัดระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสำรอง และแผนเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉิน
ส่วนที่ 3 การตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงของระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงของระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์
3. (ร่าง) ข้อกำหนดว่าด้วยการจัดการ ควบคุม กำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการใช้งานและการทำงานรวมทั้งการแจ้งเตือนความผิดพลาดของข้อมูล (ตามข้อ 22 ของระเบียบฯ) ได้กำหนดรายละเอียดของการดำเนินการไว้ดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ สาระสำคัญของระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 จะเน้นการจัดทำทะเบียนประวัติในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เป็นการนำระบบ Digital มาใช้ในการบริหารงานบุคคลและเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาการจัดการศึกษา รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของ Big Data ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการด้วย
ขอบคุณเนื้อหาจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม
ทบทวนมติ ก.ค.ศ. ว13/2556 สรุปผลการพิจารณาคําขอทบทวนมติ ก.ค.ศ. กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว13/2556