วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Google search engine
หน้าแรกสื่อการเรียนรู้/คลังข้อสอบสิทธิ์และประเภท ในการลา ของข้าราชการครู ที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน

สิทธิ์และประเภท ในการลา ของข้าราชการครู ที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน

สิทธิ์และประเภท ในการลา ของข้าราชการครู ที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน

มีน้อง ๆ ทิ้งคำถามในกล่องข้อความ พร้อมแนบเอกสารประกอบ ยังข้อสงสัยเกี่ยวกับการลาของข้าราชการครู ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ ทั้งแง่ของการรู้เพื่อการใช้สอบ และการนำไปใช้ในการทำงานจริงในโรงเรียน จึงขออนุญาตนำมาลงเป็นข้อเขียนตรงนี้เลยนะครับ

คำถาม ; อ.คะ หนูมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลาของข้าราชการครูคะ บางเพจเขาก็บอกว่า ครู ช-ญ ลาได้อย่างละ 10 บางเพจก็บอกว่าครูชาย 9 ญ 8 หนูเลยอยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยคะ และการลาของบุคลากรทางการศึกษาด้วยคะว่าแตกต่างจาการลาของครูอย่างไรคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

คำตอบ ; เรื่องของการลาข้าราชการไม่ว่าข้าราชการประเภทใดก็เหมือนกัน เพราะใช้ระเบียบเดียวกัน คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาข้าราชการ พ.ศ.2555 จะต่างกันที่สิทธิว่าใครเกิดหรือไม่เกิดสิทธิ์ เป็นไปตามคุณลักษณะหรือลักษณะงาน และแตกต่างที่อำนาจการอนุญาตการลา เพราะระเบียบโดยรวมให้อำนาจหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้อนุญาต แต่สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก.ค.ศ. ท่านมีหนังสือเวียนเพิ่มเติม ที่ชัดเจนว่าใครบ้างมีสิทธิ์ลาประเภทใด และเป็นอำนาจใครเป็นผู้อนุญาต ในประเด็นที่ถามข้อตอบ ดังนี้

1. การลาข้าราชการ มี 11 ประเภท ผมไม่อยากให้ไปจำว่าชายหญิงเท่าไร ต่างกันเท่าไร เพราะมันไม่ใช่สาระสำคัญหากเป็นคำถามเขาเพื่อการสอบ น่าจะโฟกัสที่เนื้อหาของการลาประเภทนั้น ๆ โดยเฉพาะที่ใกล้ตัวเรา หรือ ประเภทที่ปฏิบัติอยู่บ่อย ๆ แต่เอาเถอะเพื่อสบายใจ กันเหนียว ขอตอบรวม ๆ

2. กรณีประเด็นการลาที่แตกต่างกัน เป็นอย่างนี้ครับ ครูชายไม่สามารถคลอดบุตรได้ นั้นนี้ฮา (11-1=10) หญิงไม่สามารถลาไปช่วยภรรยาคลอดบุตร และการตรวจเลือกและเตรียมพล(ทางทหาร)ได้ (11-2=9) การลาบวชหมายถึงลาไปพิธ๊ฮัจฯด้วย ดังนั้นชายหญิงเกิดสิทธิ์ประเภทนี้

3. หากเป็นข้าราชการครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน เขาไม่ให้ลาพักผ่อนเพราะเขาบอกว่าได้มีวันลาจากการหยุดภาคเรียนมากกว่าลาพัก ผ่อนแล้ว(มีวันปิดเทอม) หากจะลบออก ครูชายก็จะสามารถลาได้ 9 ประเภท ครูหญิงก็จะเหลือการลา 8 ประเภท

4. ต่อข้อคำถาม จึงสรุปประเด็นได้ว่า ครูในโรงเรียนรวม ๆ ลาได้ทั้งหมด 10 ประเภท (ยกเว้นลาพักผ่อน) หากเป็นครูทำงานนอกโรงเรียน เช่น ครูช่วยราชการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ หรือ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในสำนักงานเขตพื้นที่ฯตามมาตรา 38 ค(2) อันนี้เขาก็เป็นครูนะ ได้สิทธิ์มากกว่าปฏิบัติงานที่โรงเรียนคือได้ลาพักผ่อนด้วยเพราะไม่มีวันปิด เทอม

5. อยากให้จำและเข้าใจสาระตรงนี้ดีกว่า คือ ประเภท และอำนาจการลาแต่ละประเภทตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาข้าราชการ พ.ศ. 2555 สำหรับข้าราชการครู ดังนี้ครับ

5.1) การลาป่วย ; หยุดรักษาตัวเมือมีอาการป่วย
• อำนาจการลา ไม่เกิน 60 วัน (ผอ.รร.สำหรับบุคลากรในโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่สำหรับผอ.รร. และบุคลากรใน สนง. เขตพื้นที่ฯ)
• อำนาจการลา ไม่เกิน 120 วัน (ผอ.เขตพื้นที่สำหรับทุกตำแหน่งในสังกัด)

5.2) การลาคลอดบุตร ; สำหรับสตรีมีครรภ์รวมก่อนคลอดและหลังคลอดด้วย
• อำนาจการลา ไม่เกิน 90 วัน (ผอ.รร.สำหรับบุคลากรในโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่สำหรับผอ.รร. และบุคลากรใน สนง. เขตพื้นที่ฯ)

5.3) การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ; ลาช่วยเหลือภริยาเลี้ยงดูบุตร
• อำนาจการลา ไม่เกิน 15 วันทำการ (ผอ.รร.สำหรับบุคลากรในโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่สำหรับผอ.รร. และบุคลากรใน สนง. เขตพื้นที่ฯ) ; ภริยาชอบด้วยกฎหมาย

5.4) การลากิจส่วนตัว ; ลากิจส่วนตัวทั่วไปและลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร
• อำนาจการลา ไม่เกิน 30 วัน (ผอ.รร.สำหรับบุคลากรในโรงเรียน )
• อำนาจการลา ไม่เกิน 45 วัน (ผอ.เขตพื้นที่ฯ สำหรับทุกตำแหน่งในสังกัด)
• ข้าราชการที่ได้ลาคลอดบุตร 90 วัน (นับวันหยุดราชการรวม) โดยได้รับเงินเดือนแล้ว มีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลา

5.5) การพักผ่อน ; ลาหยุดเพื่อพักผ่อนประจำปี
• อำนาจการลา (ผอ.เขตพื้นที่ฯ สำหรับทุกตำแหน่งใน สนง.เขตฯ)
• มีสิทธิลาในปีหนึ่งได้ 10 วันทำการ (เว้นแต่ทำงานยังไม่ครบ 6 เดือน) สะสมวันลาได้ ไม่เกิน 20 วันทำการ หรือ 30 วันทำการ (สำหรับผู้ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี)
• ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน เพราะมีวันหยุดภาคการศึกษา และได้หยุดราชการตามวันหยุดภาคการศึกษาเกินกว่าวันลาพักผ่อน

5.6) การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ; ลาหยุดของข้าราชการผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาอุปสมบทในพระพุทธ ศาสนา และสำหรับข้าราชการนับถือศาสนาอิสลามประสงค์จะไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
• อำนาจการลา (ผอ.เขตพื้นที่ฯ สำหรับทุกตำแหน่งในเขตพื้นที่) ;อำนาจเลขา กพฐ.มอบ
• ยื่นก่อนไม่น้อยกว่า 60 วัน ต้องบวชหรือเดินทางภายใน 10 วันนับตั้งแต่วันเริ่มลา กลับมารายงานตัวภายใน 5 วันนักจากสิกขาหรือเดินทางกลับถึงไทยหลังพิธีฮัจย์

5.7) การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ;
• อำนาจการลา (เลขา กพฐ.) การหยุดราชการต้องไม่นานจนเกินไป หากนานเช่นเข้าเป็นทหารประจำการต้องสั่งให้ออกตามกฎหมายบริหารงานบุคคล
• การลาเข้ารับการตรวจเลือก ; ลาหยุดราชการของข้าราชการที่ได้รับหมายเรียกให้เข้ารับการตรวจเลือกเพื่อรับ ราชการเป็นทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
• การลาเข้ารับการเตรียมพล ;ลาหยุดราชการของข้าราชการที่ได้รับหมายเรียกให้ไปเข้ารับการระดมพล เข้ารับการตรวจสอบพล เข้ารับการฝึกวิชาทหาร หรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
• รายงานการลาไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง(ตรวจเลือก) ภายใน 48 ชั่วโมง(เตรียมพล) เมื่อพ้นแล้วต้องรายงานตัวต่อ ผบ.ภายใน 7 วันขยายได้ไม่เกิน 15 วัน

5.8) การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน ; การลาเพื่อไปศึกษา ฝึกอบรมปฏิบัติงานวิจัย หรือดูงานทั้งในและต่างประเทศ
• ภายในประเทศ (อำนาจ ผอ.รร.สำหรับบุคลากร.ในโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่ฯ สำหรับ ผอ.รร.และบุคลากรในสำนักงานฯ)
• ต่างประเทศ เฉพาะกรณีดูงาน (อำนาจผอ.เขตพื้นที่ฯ สำหรับบุคลากรในเขตพื้นที่ฯ) ; อำนาจเลขา กพฐ.มอบ ,ต่างประเทศ กรณี ศึกษาต่อ ฝึกอบรม วิจัย (อำนาจ เลขา กพฐ.)

5.9) การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ;
• อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นับเวลาเหมือนเต็มเวลาราชการ
• ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศที่มีเวลาไม่เกิน 1 ปี เมื่อปฏิบัติงานแล้วเสร็จให้รายงานตัวเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดเวลา
• ให้รายงานผลเกี่ยวกับการลาไปปฏิบัติงานให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบภายใน 30 วัน

5.10) การลาติดตามคู่สมรส ; ลาหยุดราชการเพื่อติดตามคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายที่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไปปฏิบัติงาน (1 ปีขึ้นไป)ในต่างประเทศ ไม่รวมถึงการลาศึกษา ฝึกอบรมฯ
• อำนาจเลขาธิการ กพฐ. นับเวลาเหมือนเต็มเวลาราชการ
• ลาได้ไม่เกิน 2 ปี และ ขอลาต่อได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 4 ปี (เกิน4ปี ต้องลาออก)
• ไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างลาติดตามคู่สมรส
• ลาได้ใหม่อีก เมื่อคู่สมรสได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติงานประจำในประเทศไทย แล้ว ต่อมาได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติงานในต่างประเทศอีก

5.11) การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ ; ลาสำหรับข้าราชการที่ได้รับอันตรายหรือการป่วยเจ็บเพราะเหตุปฏิบัติราชการใน หน้าที่หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่จนทำให้ตกเป็นผู้ ทุพพลภาพหรือพิการ
• อำนาจเลขาธิการ กพฐ. ไม่เกิน 12 เดือน
• มีสิทธิลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพครั้งหนึ่งได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน หลักสูตรที่ประสงค์จะลา แต่ไม่เกิน 12 เดือน

6.ข้อมูลอ้างอิงและควรศึกษาเพิ่มเติมตามนี้นะครับ
• ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาข้าราชการ พ.ศ. 2555
• คำสั่ง สพฐ.มอบอำนาจการลา
• หนังสือเวียน ก.ค.ศ.ที่เกี่ยวกับการลา

…..แล้วพบกันใหม่นะครับ…..

บวร เทศารินทร์

ขอบคุณที่มา : ดร.บวร เทศารินทร์

อ่านเรื่องราวอื่นๆได้ที่ : ครูอัพเดตดอทคอม

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments