APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) เป็นเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีความสำคัญระดับโลก มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ ซึ่งในปี ค.ศ. 2022 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคตลอดทั้งปี รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้
ตราสัญลักษณ์
ตราสัญลักษณ์ของการประชุม ออกแบบโดยชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นรูป “ชะลอม” ซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของในการเดินทาง หรือนำไปมอบกับบุคคลที่เคารพในสังคมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ทำจากไม้ไผ่ สะท้อนถึงการค้าที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงมิตรภาพเข้าด้วยกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วยชะลอม 21 ช่อง สื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ และใช้สีน้ำเงิน ชมพู เขียว สื่อให้เห็นถึงคำขวัญของการประชุม “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
มีความสำคัญอย่างไร
เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือ เวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งในปี 2532 มีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่นความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค
เอเปคมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ
เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย และไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งเอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ1,700 ล้านล้านบาท
สถานที่จัดการประชุม
รัฐบาลไทยได้เลือกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดการประชุมหลัก และหอประชุมกองทัพเรือเป็นสถานที่จัดเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจพร้อมคู่สมรส นอกจากนี้ยังได้จัดสรรวงเงินงบประมาณสำหรับการประชุมครั้งนี้จำนวน 3,283.10 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้เคยมีการเสนออิมแพ็ค เมืองทองธานีและไอคอนสยาม เป็นตัวเลือกในการจัดประชุมและจัดเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจพร้อมคู่สมรส ตามลำดับ
กำหนดการประชุม
สัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC Economic Leaders’ Week: AELW) จะเริ่มด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ในวันที่ 14–16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในวันที่ 17 พฤศจิกายน ต่อด้วยงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกรับเชิญพิเศษพร้อมคู่สมรสที่หอประชุมกองทัพเรือ ในช่วงค่ำวันเดียวกัน
ในงานเลี้ยงรับรองดังกล่าว จะมีการจัดอาหารค่ำซึ่งดูแลโดย ชุมพล แจ้งไพร เจ้าของร้าน “อาหาร” ซึ่งได้รับดาวมิชลินสองดวง อีกทั้งยังเคยมีประสบการณ์ดูแลอาหารในการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2535 และ 2548ชุมพลออกแบบอาหารค่ำดังกล่าวในแนวคิด “ภูมิปัญญาอาหารไทยอย่างยั่งยืน” โดยใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงจากทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์รับรองผู้นำเอเปค ยังมีการแสดงโดยกระทรวงวัฒนธรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคครั้งนี้ โดยมีนักร้องผู้มีชื่อเสียงร่วมแสดง เช่น ธงไชย แมคอินไตย์, รัดเกล้า อามระดิษ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการประดับตกแต่งสถานที่ในบรรยากาศงานลอยกระทง อนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีการแสดงแสง สี เสียง ตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงไอคอนสยามด้วย
หลังจากนั้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะเจ้าภาพ จะให้การต้อนรับและร่วมประชุมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจ, ผู้แทน และแขกรับเชิญพิเศษในช่วงแรก ในช่วงเย็นวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จออกทรงรับผู้นำเขตเศรษฐกิจและแขกรับเชิญพิเศษพร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันถัดมาผู้นำเขตเศรษฐกิจจะร่วมประชุมในช่วงที่สอง และนายกรัฐมนตรีไทยจะเป็นผู้แถลงข่าวด้วยตนเองหลังเสร็จสิ้นการประชุม
ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังมีการประชุมเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท 2022 คู่ขนานไปกับการประชุมหลัก โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 16–18 พฤศจิกายน ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพ โดยจะมีผู้นำเขตเศรษฐกิจบางส่วนเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ผู้จัดการประชุม ได้กำหนดจัดงานเลี้ยงต้อนรับ ณ ริเวอร์พาร์ค ไอคอนสยาม และงานเลี้ยงรับรอง ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ สยามพารากอน ด้วย
รายชื่อ 21 ผู้นำ และ 3 แขกพิเศษ ร่วมประชุม APEC 2022
ออสเตรเลีย นายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรี (The Honourable Anthony Albanese MP)
บรูไนดารุสซาลาม สมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์ที่ ๒๙ และนายกรัฐมนตรีสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม ซุลตัน ฮาจี โอมาร์ อาลี ไซฟุดดีน ซาอาดุล ไครี วัดดิน (His Majesty Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah Ibni Al-Marhum Sultan Haji Omar ‘Ali Saifuddien Sa’adul Khairi Waddien)
แคนาดา นายกรัฐมนตรี นายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau)
ชิลี ประธานาธิบดี นายกาบริเอล โบริก ฟอนต์ (H.E. Mr. Gabriel Boric Font)
จีน ประธานาธิบดี นายสี จิ้นผิง (H.E. Mr. Xi Jinping)
จีนฮ่องกง ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honourable John Lee Ka-Chiu)
อินโดนีเซีย ประธานาธิบดี นายโจโก วีโดโด (H.E. Mr. Joko Widodo)
ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. Kishida Fumio)
เกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรี นายฮัน ด็อก-ซู (H.E. Mr. Han Duck-soo)
มาเลเซีย เลขาธิการรัฐบาลมาเลเซีย ตัน ซรี ดาโตะ เซอรี โมฮามัด ซูกี บิน อาลี(Tan Sri Dato’ Seri Mohd Zuki Ali)
เม็กซิโก เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย นายเบร์นาโด กอร์โดบา เตโย (H.E. Mr. Bernardo Córdova Tello)
นิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรี นางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น (The Right Honourable Jacinda Ardern MP)
ปาปัวนิวกินี นายกรัฐมนตรี นายเจมส์ มาราเป (The Honourable James Marape MP)
เปรู รองประธานาธิบดี คนที่ 1 นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Ms. Dina Ercilia Boluarte Zegarra)
ประชุม เอเปค ครั้งที่ 29 ประชุมเอเปคมีกี่ประเทศ APEC 2022 ประชุมเอเปควันไหน APEC THAILAND APECย่อมาจากอะไร คลิกที่นี่
ฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี นายแฟร์ดีนันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนียร์ (H.E. Mr. Ferdinand Romualdez Marcos Jr.)
รัสเซีย รองนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย คนที่ 1 นายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ (H.E. Mr. Andrey Belousov)
สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี นายลี เซียน ลุง (H.E. Mr. Lee Hsien Loong)
จีนไทเป ผู้แทน (ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC)) นายมอร์ริส จาง (นายจาง จงโหมว) (Mr. Morris Chang)
ไทย นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
สหรัฐอเมริกา รองประธานาธิบดี นางคามาลา แฮร์ริส (The Honorable Kamala Harris)
เวียดนาม ประธานาธิบดี นายเหวียน ซวน ฟุก (H.E. Mr. Nguyen Xuan Phuc)
กัมพูชา นายกรัฐมนตรี สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน (Samdech Akka Moha Sena Padei Techo HUN SEN)
ฝรั่งเศส ประธานาธิบดี นายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron)
ซาอุดีอาระเบีย มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud)
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ ครูอัพเดตดอทคอม
เรื่องราวที่น่าสนใจ วันหยุดส่งท้ายปี2565 เดือน พ.ย.-ธ.ค.