“วันลอยกระทง” หรือ ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง ส่วน “วันลอยกระทง 2565” ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน โดยจะมีการนำ ดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของใส่ลงในกระทงแล้วนำไปลอยน้ำ ซึ่งเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชา และ อธิษฐาน ขอขมาพระแม่คงคา “ลอยกระทง” จึงนับเป็นเทศกาลสำคัญในประเทศไทย ที่มีความหมายมาอย่างยาวนาน
ประเพณีลอยกระทง นอกจากจะมีขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงการขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปแล้ว นอกจากนี้ ตามความเชื่อของคนไทย วันลอยกระทงจะเป็นการลอยทุกข์โศก สิ่งอัปมงคล โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ให้ออกไปจากชีวิต พร้อมกับกล่าวคำขอขมาระหว่างลอยกระทง และอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปพร้อม ๆ กันด้วย
วัตถุประสงค์ของวันลอยกระทง
นอกจากนี้ ลอยกระทง ก็ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล บางแห่งก็ลอยกระทง เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน บางแห่งก็เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย
พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทง อาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหล เพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้ว จึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำว่า ได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว ท่านว่าการที่ชาวบ้านบอกว่า
การลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษ และขอบคุณต่อแม่คงคา ก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ แต่ดึกดำบรรพ์ได้แสดงความยินดี ที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ จึงได้นำผลผลิตแรกที่ได้ ไปบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพื่อขอบคุณที่บันดาลให้การเพาะปลูกของตนได้ผลดี รวมทั้งเลี้ยงดูผีที่อดอยาก และการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เสร็จแล้วก็มีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอง
ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อน เรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการบวงสรวง ตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ที่สุด ก็คงเหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การลอยกระทงจึงมีอยู่ในชาติต่างๆทั่วไป และการที่ไปลอยน้ำ ก็คงเป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ที่มนุษย์โดยธรรมดา มักจะเอาอะไรทิ้งไปในน้ำให้มันลอยไป
ทำไมกระทงถึงเป็นดอกบัว
ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอก ของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่า เป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำ ตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลาย ตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียน นำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศพระสนมเอก ก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษ ที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว
สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็น ก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน
คำอธิษฐานสำหรับวันลอยกระทง
1. ข้าพเจ้า ชื่อ … นามสกุล … ขอถวายบูชาแด่พระแม่คงคา ด้วยกระทงประทีปนี้ ขอพระแม่คงคา เมตตารับการบูชาด้วย จากลูกผ้มีใจภักดี ผู้ตระหนักในความกรุณาปราณี ที่ท่านให้โดยตลอดมา โปรดรับขอขมาจากลูกผู้เอ่ยวาจา ณ ครานี้ หากสิ่งใดผิดพลาดเกิดมี ขอพระแม่คงคา ปราณีให้อภัย และขอพรพระแม่คงคา ผู้มีมหาเมตตาเป็นที่สุด โปรดนำพาความมงคล ความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวย ความสำเร็จ มาให้แก่ลูกผู้ภักดี ณ ครานี้ด้วยเทอญ สาธุ
2.ตั้งนะโม 3 จบ (นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ) มะยัง อิมินา ปะทีเปนะ อะสุกายะ นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน ฐิตัง มุนิโน ปาทะวะลัญชัสสะ ปูชา อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
คำแปล ข้าพเจ้าขอบูชารอยพระพุทธบาท ที่ตั้งอยู่ริมหาดทรายแม่น้ำนัมมทา ขอให้การบูชารอยพระพุทธบาทด้วยประทีปกระทงนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
คำขอขมาพระแม่คงคา
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต
ข้าแต่คงคา ลูกขอวันทา ด้วยประทีปกระทง พระแม่คงคา มีความเมตตา ต่อลูกสูงส่ง คือน้ำในกาย สามส่วนมั่นคง กายจึงยืนยง ชุ่มชื่นยืนนาน พระแม่คงคา กำเนิดจากฟ้า โปรยปรายลงมา เป็นกระแสธาร เกิดเป็นแม่น้ำ หลายนามขนาน ปิง, วัง, ยม, น่าน คือเจ้าพระยา ท่าจีน, ตาปี นครชัยศรี โขง, ชี, มูล, ละหาร ห้วยหนองคลองบึง จนถึงแก่งกว๊าน น้ำใต้บาดาล อีกทั้งประปา ลูกลูกทั้งหลาย เดินทางขายค้า สำเร็จกิจจา คมนาคม นำมากินใช้ ได้ดั่งอารมณ์ ยามร้อนประพรม ชุ่มชื่นกายใจ ชำระมลทิน โสโครกทั้งสิ้น สะอาดสดใส ผุดผ่องพราวตา แลเลิศวิไล แม่น้ำรับไว้ สกปรกโสมม น้ำเสียเรือนชาน ซักผ้าล้างจาน เททิ้งทับถม ไหลลงคงคา ธาราระทม สารพิษสะสม เน่าคลุ้งฟุ้งไป วันนี้วันเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่น เป็นศุภสมัย ลูกจัดกระทง ประสงค์จงใจ นำมากราบไหว้ พระแม่คงคา เทวาทรงฤทธิ์ ซึ่งสิงสถิต ทุกสายธารา ทั้งผีพรายน้ำ อย่าซ้ำโกรธา ลูกขอขมา อโหสิกรรม ทำกิจใดใด อุทกภัย อย่าได้เติมซ้ำ อย่าพบวิบัติ ข้องขัดระกำ อย่าให้ชอกช้ำ น้ำท่วมพสุธา อย่าให้สินทรัพย์ ต้องพลันย่อยยับ เพราะสายธารา อย่าให้ชีวิต ต้องปลิดชีวา พระแม่คงคา รับขมาลูก เทอญ
ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภูมิภาค
ภาคกลาง จัดขึ้นทุกจังหวัดตามสถานที่สำคัญ อาทิ งานภูเขาทอง กรุงเทพมหานคร เป็นงานในรูปแบบงานวัด จัดขึ้นก่อนวันลอยกระทง 7-10 วัน ,งานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่า บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคเหนือ นิยมทำโคมลอย เรียกว่า ลอยโคม หรือ ว่าวลม ชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (จังหวัดเชียงใหม่) กระทงสาย (จังหวัดสุโขทัย) งานขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง
กำหนดการ งานวันลอยกระทง 2565 เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2565‘ พบกับ การแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง เวลา 22.00 น. ของทุกวันตลอดระยะเวลาการจัดงาน ณ ตระพังตะกวน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งเเต่ 29 ตุลาคม-8 พฤศจิกายน 2565
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคอีสานในอดีต เรียกวันลอยกระทงว่าสิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง โดยมีจังหวัดร้อยเอ็ด ถือเป็นตัวแทนจัดงานลอยกระทงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ชื่อว่า “สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป” มีการแห่กระทงประทีป 12 หัวเมือง การประกวดกระทงอนุรักษ์ธรรมชาติ ฯลฯ
ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จะมีการจัดงานวันลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่ รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ในแต่ละท้องถิ่น ที่จะมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป
ตำนานและความเชื่อวันลอยกระทง
ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง
กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนหุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐาน และบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล
พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาค ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอม และดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำ เพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆ มาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทง ตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐาน ประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลาย จึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้ จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา 3 เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัท พากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์ และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทง เพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า
สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีป เพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี บนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาด ลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรา มักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ ครูอัพเดตดอทคอม
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง วันลอยกระทง 2565 ประวัติวันลอยกระทง
ใบงานลอยกระทง 2565 สื่อ ใบงานวันลอยกระทง 2565 Loy Krathong Festival 2022