มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหา การทุจริตงบประมาณ งบเงินอุดหนุน สำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้
1. รับทราบ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต งบประมาณ งบเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ
2. รับทราบ ผลการพิจารณาต่อมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา การทุจริตงบประมาณ งบเงินอุดหนุน สำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ รายงาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการพิจารณาต่อมาตรการดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปด้วย ทั้งนี้ ให้แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบต่อไป
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา การทุจริตงบประมาณ งบเงินอุดหนุน สำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการ มาเพื่อดำเนินการ โดยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานหลักในการพิจารณาเรื่องนี้ ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งในภาพรวมหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมหารือส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการของมาตรการดังกล่าว โดยมีข้อเสนอแนะต่อมาตรการบางประการ เช่น
มาตรการของคณะกรรมการฯ | ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม |
ประเด็นที่ 1 : ระบบการบริหารจัดการข้อมูลนักเรียน/นักศึกษา | · ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลนักเรียนที่ครอบคลุมสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ เงินอุดหนุนนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วย · ควรกำหนดให้ใช้เลข 13 หลัก ในการลงทะเบียน ซึ่งผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนได้เพียงระบบเดียว/สถานศึกษาเดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนของจำนวนผู้เรียนในแต่ละสถานศึกษา |
ประเด็นที่ 2 : ระบบการจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณ | · กรณีการจ่ายงบเงินอุดหนุนของสถานศึกษาในพื้นที่ที่มีความทุรกันดารหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้วิธีการเบิกเงินผ่านบัญชี กระทรวงการคลังจะกำหนดแนวทางในการจ่ายเงินอุดหนุนผ่านบัญชีให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไปเพื่อให้การจ่ายเงินมีความสะดวกและสามารถตรวจสอบได้ |
ประเด็นที่ 3 : ระบบการควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ | · ควรเผยแพร่งบ แสดงฐานะการเงิน หรือรายงานทางการเงิน ที่เกิดขึ้นจากการรับและการใช้จ่ายของสถานศึกษา ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ที่มีข้อมูลทันสมัย ตรวจสอบได้และสะท้อนรายละเอียดการรับและการใช้จ่ายของสถานศึกษาอย่างแท้จริง · ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการสุ่มตรวจสถานศึกษาในสังกัดเป็นระยะด้วยมาตรการเชิงป้องปรามจัดทำรายงานผลการดำเนินการสุ่มตรวจเป็นระยะด้วยมาตรการเชิงป้องปราม และจัดทำรายงานผลการดำเนินการเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นประจำทุกปี |
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่นี่ เรื่องที่ 21
ขอบคุณเนื้อหาจาก รัฐบาลไทย
เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม เกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดให้มีในสถานศึกษา ว29/2565 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน