วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Google search engine
หน้าแรกสาระน่ารู้รูปแบบการแต่งตั้งคณะกรรมการ ประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง (PA) ปีงบประมาณ 2565 จะทำเป็น “ประกาศ” หรือ “คำสั่ง”

รูปแบบการแต่งตั้งคณะกรรมการ ประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง (PA) ปีงบประมาณ 2565 จะทำเป็น “ประกาศ” หรือ “คำสั่ง”

 

รูปแบบการแต่งตั้งคณะกรรมการ ประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง (PA) ปีงบประมาณ 2565 จะทำเป็น “ประกาศ” หรือ “คำสั่ง”

รูปแบบการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง (PA) ปีงบประมาณ 2565 จะทำเป็น “ประกาศ” หรือ “คำสั่ง” โดย ดร.รัชศักดิ์  แก้วมาลา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองช้าง สพป.อุบลราชธานี เขต ๑ โทร 090-9625983  ไลน์ 080-8686810

บทความนี้ นำเสนอบทวิเคราะห์เบื้องต้น เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการจัดทำเอกสารที่เป็นหลักฐานทางราชการ ได้พิจารณาในแง่มุมต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกปฏิบัติว่า จะทำเป็น “คำสั่ง” หรือ “ประกาศ” อย่างมีเหตุผล โดยอ้างอิงข้อกฎหมายอย่างรอบด้านที่สุด และหลีกเลี่ยงการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจให้น้อยที่สุด

ประกาศ หรือ คำสั่ง คือ เอกสารที่เป็นหลักฐานในราชการ

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. ๒๕๒๖ กำหนด หมวด ๑ ชนิดของหนังสือ ในข้อ ข้อ ๙ หนังสือราชการ คือ เอกสารที่เป็นหลักฐานในราชการ ได้แก่

๙.๑ หนังสือที่มีไปมาระหว่างส่วนราชการ

๙.๒ หนังสือที่ส่วนราชการมีไปถึงหน่วยงานอื่นใดซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือที่มีไปถึงบุคคลภายนอก

๙.๓ หนังสือที่หน่วยงานอื่นใดซึ่งมิใช่ส่วนราชการ หรือบุคคลภายนอกมีมาถึงส่วนราชการ

๙.๔ เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในราชการ

๙.๕ เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ

๙.๖ ข้อมูลข่าวสารหรือหนังสือที่ได้รับจากระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ ๑๐ หนังสือ มี ๖ ชนิด คือ

๑๐.๑ หนังสือภายนอก

๑๐.๒ หนังสือภายใน

๑๐.๓ หนังสือประทับตรา

                    ๑๐.๔ หนังสือสั่งการ

                    ๑๐.๕ หนังสือประชาสัมพันธ์

๑๐.๖ หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้น หรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการ

ประกาศ หรือ คำสั่ง เป็นหนังสือชนิดใด สาระสำคัญแตกต่างกันอย่างไร

คำสั่ง เป็น “หนังสือสั่งการ” ตามส่วนที่ ๔ หนังสือสั่งการ    ข้อ ๑๕ หนังสือสั่งการ ให้ใช้ตามแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดแบบไว้โดยเฉพาะ

หนังสือสั่งการมี ๓ ชนิด ได้แก่ คำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับ

ข้อ ๑๖ คำสั่ง คือ บรรดาข้อความที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ปฏิบัติโดยชอบ ด้วยกฎหมายใช้กระดาษตราครุฑ และให้จัดทำตามแบบที่ ๔ ท้ายระเบียบ โดยกรอกรายละเอียดดังนี้

๑๖.๑ คำสั่ง ให้ลงชื่อส่วนราชการ หรือตำแหน่งของผู้มีอำนาจที่ออกคำสั่ง

๑๖.๒ ที่ ให้ลงเลขที่ที่ออกคำสั่ง โดยเริ่มฉบับแรกจากเลข ๑ เรียงเป็นลำดับไปจนสิ้นปีปฏิทินทับเลขปีพุทธศักราชที่ออกคำสั่ง

๑๖.๓ เรื่อง ให้ลงชื่อเรื่องที่ออกคำสั่ง

๑๖.๔ ข้อความ ให้อ้างเหตุที่ออกคำสั่ง และอ้างถึงอำนาจที่ให้ออกคำสั่ง (ถ้ามี) ไว้ด้วย แล้วจึงลงข้อความที่สั่ง และวันใช้บังคับ

๑๖.๕ สั่ง ณ วันที่ ให้ลงตัวเลขของวันที่ ชื่อเต็มของเดือน และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกคำสั่ง

๑๖.๖ ลงชื่อ ให้ลงลายมือชื่อผู้ออกคำสั่ง และพิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อไว้ใต้ลายมือชื่อ

๑๖.๗ ตำแหน่ง ให้ลงตำแหน่งของผู้ออกคำสั่ง

ประกาศ เป็น “หนังสือประชาสัมพันธ์” ตามส่วนที่ ๕ หนังสือประชาสัมพันธ์ ข้อ ๑๙ หนังสือประชาสัมพันธ์ ให้ใช้ตามแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดแบบไว้โดยเฉพาะ

หนังสือประชาสัมพันธ์มี ๓ ชนิด ได้แก่ ประกาศ แถลงการณ์ และข่าว

ข้อ ๒๐ ประกาศ คือ บรรดาข้อความที่ทางราชการประกาศหรือชี้แจงให้ทราบหรือแนะแนวทางปฏิบัติ ใช้กระดาษตราครุฑ และให้จัดทำตามแบบที่ ๗ ท้ายระเบียบ โดยกรอกรายละเอียดดังนี้

๒๐.๑ ประกาศ ให้ลงชื่อส่วนราชการที่ออกประกาศ

๒๐.๒ เรื่อง ให้ลงชื่อเรื่องที่ประกาศ

๒๐.๓ ข้อความ ให้อ้างเหตุผลที่ต้องออกประกาศและข้อความที่ประกาศ

๒๐.๔ ประกาศ ณ วันที่ ให้ลงตัวเลขของวันที่ ชื่อเต็มของเดือน และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกประกาศ

๒๐.๕ ลงชื่อ ให้ลงลายมือชื่อผู้ออกประกาศ และพิมพ์ชื่อเต็มของเจ้าของลายมือชื่อไว้ใต้ลายมือชื่อ

๒๐.๖ ตำแหน่ง ให้ลงตำแหน่งของผู้ออกประกาศในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ทำเป็นแจ้งความ ให้เปลี่ยนคำว่าประกาศ เป็น แจ้งความ

สรุป ข้อแตกต่างระหว่าง “ประกาศ” หรือ “คำสั่ง”

๑.“ประกาศ” เป็นหนังสือชนิด ประชาสัมพันธ์ เป็นข้อความเพื่อชี้แจงให้ทราบหรือแนะแนวทางปฏิบัติ ส่วน “คำสั่ง” เป็นข้อความที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ปฏิบัติโดยชอบ ด้วยกฎหมาย

๒.  การออก “คำสั่ง” จะอ้างเหตุที่ออกคำสั่ง อ้างถึงอำนาจที่ให้ออกคำสั่ง ข้อความที่สั่ง และวันใช้บังคับ ส่วน “ประกาศ”  ให้อ้างเหตุผลที่ต้องออกประกาศและข้อความที่ประกาศ ไม่มีต้องอ้างอำนาจที่ออกประกาศ และไม่มีข้อความสั่งการให้ปฏิบัติ

มีข้อคิดเห็นทางกฎหมาย ว่า หากจะออก “ประกาศ” ผลของการประเมินของคณะกรรมการ จะยังคงใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง ยันผลผูกพันการนำผลการประเมินไปใช้ได้ เหมือน “คำสั่ง” หรือไม่อย่างไร ถ้าหากจะอ้างว่า ทั้ง “ประกาศ” หรือ “คำสั่ง” ต่างก็เป็น เอกสารที่เป็นหลักฐานในราชการ ได้ทั้ง ๒ อย่าง ก็คงจะไม่ผิด อาจจะแตกต่างกันบ้างในแง่ของ การเป็น “น้ำหนักพยานเอกสาร” ตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่ “ประกาศ” อาจจะมีน้ำหนักการเป็นพยานเอกสาร น้อยกว่า “คำสั่ง”

ส่วนผลการประเมิน ที่เกิดจากการ “ประกาศ” หรือ “คำสั่ง” จะแตกต่างกันหรือไม่ น่าจะให้น้ำหนักไปที่การดำเนินการประเมิน การให้คะแนนในแบบประเมิน (PA2/ส และ PA3) และการลงนามรับรองเป็นเอกสารของกรรมการนั้นๆ มากกว่า

การแต่งตั้ง “กรรมการประเมิน PA” อาศัยอำนาจข้อใด

          เป็นการ “แต่งตั้ง” ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ที่ ศธ 0206.3/ว9  ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ ก.ค.ศ.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19(4) มาตรา 39 ก. (1) (2) (3) และ (4) มาตรา 54 และมาตรา 55 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ตามความในหนังสือที่ ศธ 0206.3/ว9 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

ตามนัยหมวด 2 ข้อ 3 ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง จำนวน 3 คน ประกอบด้วย

1) ผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น เป็นประธาน

2) ผู้ที่ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ หรือผู้สอนในสถานศึกษาอุดมศึกษาที่มีตำแหน่งไม่ต่ำว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือครูผู้สอนจากสถานศึกษาอื่นที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการพิเศษ หรือผู้ทรงคุณวุฒินอกสถานศึกษานั้น ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมจำนวน 2 คน เป็นกรรมการประเมิน

โดยให้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ 

ข้อ 1 ให้คณะกรรมการประเมินตามข้อ 3 ประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลงของข้าราชการครูในรอบการประเมิน ปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565) โดยพิจารณาประเมินตามระดับปฏิบัติการที่คาดหวังของตำแหน่งและวิทยฐานะตามแบบที่ ก.ค.ศ.กำหนด หรือแบบ PA2/ส (ตามนัยหมวด 2 ข้อ 4) และสรุปผลการประเมินการพัฒนางานตามข้อตกลง ในแบบ PA3/ส

ข้อ 2 ให้ถือว่าคณะกรรมการดังกล่าว เป็นคณะกรรมการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะเพื่อดำรงไว้ ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่งและวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งด้วย หากคะแนนจากกรรมการแต่ละคนต่ำกว่าร้อยละ 70 ให้ถือว่าผู้รับการประเมินนั้น “ไม่ผ่านเกณฑ์” ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาแจ้งให้ข้าราชการครูผู้นั้นทราบ และให้มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ตามนัยมาตรา 55 วรรคสอง ต่อไป  หรือ

ข้อ 3 ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานด้านที่ 3 ส่วนที่ 1 ด้านผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามหลักเกณฑ์ฯ ว17/2552 หรือ ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งครู  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว21/2560 (วฐ.2) แล้วแต่กรณี สำหรับข้าราชการครูที่จะขอมีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ตามนัยคู่มือการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครู หน้า 104 (ถ้ามี)

ข้อสังเกตว่า “คำบังคับ” ตามหลักเกณฑ์นี้ที่ระบุว่า “ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาแต่งตั้ง….” น่าจะตีความได้ว่า จะต้องทำเป็น “คำสั่ง” มิใช่ “ประกาศ”

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือกรรมการอื่น เป็นบุคคลภายนอก ที่มิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ผู้อำนวยการสถานศึกษา จะมีอำนาจ สั่งแต่งตั้ง ได้หรือไม่ อาศัยอำนาจตามข้อกฎหมายใด

กรณีศึกษา ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๘  ข้อ ๘ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น ประกอบด้วย ๑) ผู้บริหารท้องถิ่น ๒) รองนายกองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นทุกคน ๓) สมาชิกสภาท้องถิ่นที่สภาท้องถิ่นนั้นคัดเลือกจำนวน ๓ คน  ๔) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้บริหารท้องถิ่นคัดเลือกจำนวน ๓ คน ๕) ผู้แทนภาคราชการและ/หรือรัฐวิสาหกิจที่ผู้บริหารท้องถิ่นคัดเลือกจำนวน ไม่น้อยกว่า ๓ คน  ๖) ผู้แทนประชาคมท้องถิ่นที่ประชาคมท้องถิ่นคัดเลือกจำนวนไม่น้อยกว่า ๓ คน แต่ไม่เกิน ๖ คน  ๗) ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ๘) หัวหน้าส่วนการบริหารที่มีหน้าที่จัดทำแผน

ข้อ ๑๐ อำนาจหน้าที่ คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น (นายกแต่งตั้ง ๘ ข้อ)

๑) กำหนดแนวทางการพัฒนาท้องถิ่น (จากภารกิจ ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายผู้บริหาร แผนชุมชน)

๒) ร่วมจัดทำร่างแผนพัฒนา (๒ แผน) เสนอแนะแนวทางการพัฒนา

๓) พิจารณาร่างแผนพัฒนาและร่างแผนดำเนินงาน

๔) ให้ความเห็นชอบร่างข้อกำหนดขอบข่ายและรายละเอียดของงานตามข้อ ๑๙(๒)

๕) พิจารณาให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนา

๖) แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นเพื่อช่วยปฏิบัติงานตามที่เห็นสมควร

๗) ประสานงานประชาคมหมู่บ้านฯ นำโครงการตามปัญหาความต้องการชุมชน มาจัดทำแผนพัฒนาฯด้วย

จากกรณีนี้ นายกองค์การบริหารส่วนตำแหน่ง สามารถแต่งตั้ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” แม้จะอยู่ต่างสังกัดกระทรวง ก็สามารถทำได้ โดยอ้างระเบียบกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าว ตามข้อ ๘

          ด้วยเหตุว่า “หน้าที่ราชการ” มี ๒ ลักษณะ

๑) หน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรฐานตำแหน่ง หรือจะเรียกว่า “หน้าที่ที่เป็นกิจทั่วไป”

๒) หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หรือได้รับคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือจะเรียกว่า “หน้าที่ที่เป็นกิจเฉพาะ”

กรณีนี้ “ผู้อำนวยสถานศึกษา” ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตามคำสั่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น มิใช่ไปทำหน้าที่อย่างอื่นใดที่เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ทำหน้าที่เฉพาะที่ได้รับคำสั่งเท่านั้น

 

“หน้าที่ที่เป็นกิจทั่วไป” ของผู้อำนวยการสถานศึกษา คือ มาตรา 39 พ.ร.บ.บริหารกระทรวง ศธ.2546

อำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้อำนวยการสถานศึกษา ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสถานศึกษา เป็นไปตาม พระราชบัญญัติบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546

มาตรา ๓๙ สถานศึกษาและส่วนราชการตามมาตรา ๓๔ (๒) มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ๆ โดยให้มีผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(๑) บริหารกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ

(๒) ประสานการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา รวมทั้งควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ

(๓) เป็นผู้แทนของสถานศึกษาหรือส่วนราชการในกิจการทั่วไป รวมทั้งการจัดทำนิติกรรมสัญญาในราชการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการได้รับตามที่ได้รับมอบอำนาจ

(๔) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา

(๕) อำนาจหน้าที่ในการอนุมัติประกาศนียบัตรและวุฒิบัตรของสถานศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด

(๖)๑๗ ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวง เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งงานอื่นที่กระทรวงมอบหมาย

สถานศึกษาและส่วนราชการตามมาตรา ๓๔ (๒) จะให้มีรองผู้อำนวยการหรือรองหัวหน้าส่วนราชการรองจากผู้อำนวยการหรือหัวหน้าส่วนราชการเพื่อช่วยปฏิบัติราชการก็ได้

          อำนาจหน้าที่ในการประเมิน PA มิใช่อำนาจตามมาตรา 39 ข้างต้น แต่เป็นอำนาจตามมาตรา 54 และมาตรา 55 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.. 2547

 การประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง (PA) เป็น “หน้าที่” ประเภทใด

ถือเป็น “หน้าที่ที่เป็นกิจเฉพาะ” ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ที่ ศธ 0206.3/ว9  ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564  ก.ค.ศ.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19(4) มาตรา 39 ก. (1) (2) (3) และ (4) มาตรา 54 และมาตรา 55 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ตามความในหนังสือที่ ศธ 0206.3/ว9 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป หมวด 2 ข้อ 3 ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง จำนวน 3 คน ประกอบด้วย 3.1)  ผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น เป็นประธาน  และ 3.2) ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ หรือผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือครูผู้สอนจากสถานศึกษาอื่นที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการพิเศษ หรือผู้ทรงคุณวุฒินอกสถานศึกษานั้น ที่มีความรู้ ความเหมาะสม จำนวน 2 คน มาเป็นกรรมการประเมิน

หากผู้อำนวยสถานศึกษา จะมี “คำสั่งแต่งตั้ง” กรรมการที่เป็นบุคคลภายนอก ก็สามารถอ้างอิงข้อกฎหมายตามหลักเกณฑ์ฯ ว9/64 ได้ แต่ไม่อาจจะอ้าง มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.บริหารกระทรวง ศธ 2546 ได้

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

ในธรรมเนียมวิธีปฏิบัติราชการที่ทำกันมา ถ้าเป็นบุคคลภายนอก สถานศึกษา มักจะไม่ทำเป็น “คำสั่ง” แต่ทำเป็น “ประกาศ” จะยกเหตุผลว่า “มิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชา” หรือ เพื่อ ให้เกียรติบุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิก็ตาม หรือจะอ้างความคิดเห็นจากการตอบข้อซักถามของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าบุคคลนั้น จะมีตำแหน่งในสำนักงาน ก.ค.ศ. หรือ สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ใดๆ ก็ตาม แต่ครูอาจารย์สามารถศึกษาจากเอกสารทางราชการที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ด้วยตนเองได้ และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่มีเหตุผลได้

ไม่จำเป็นต้องไปหยิบยกเอาเจตนารมณ์ ของก.ค.ศ. มาอ้าง เพราะหลักเกณฑ์และวิธีการฯ (ว9/64) เป็นกฎหมายระดับรองจากพระราชบัญญัติ ไม่มีการบัญญัติเจตนารมณ์เอาไว้ ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติบางฉบับ ที่จะระบุเจตนารมณ์ไว้ใน “บทเฉพาะกาล” แต่ ว9/64 ไม่มี “บทเฉพาะกาล” เพราะเป็นกฎหมายที่ระดับปฏิบัติการ มิใช่กฎหมายที่จะเอาเจตนารมณ์ เป็นหลักในการออกกฎหมาย

อ้างอิง

๑. ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. ๒๕๒๖

๒. หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู (ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ ๐๒๐๖.๗/ว๙ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔)

๓.ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๘

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก ดร.รัชศักดิ์  แก้วมาลา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองช้าง สพป.อุบลราชธานี เขต ๑ และ สพฐ.

เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม การจ่ายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย และเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี 2563 และประจำปี 2564

ว15 การถ่ายคลิปการสอน ประเมินวิทยฐานะ วPA สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ปรับรูปแบบการถ่ายคลิปวิดีทัศน์การสอน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments