วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Google search engine
หน้าแรกมุมคุณครูการรับเงิน กบข. คืน หลังจากเกษียณอายุราชการตามประกาศเกษียณแล้ว สมาชิก กบข. จะมีสิทธิได้รับเงิน 2 ทาง

การรับเงิน กบข. คืน หลังจากเกษียณอายุราชการตามประกาศเกษียณแล้ว สมาชิก กบข. จะมีสิทธิได้รับเงิน 2 ทาง

การรับเงิน กบข. คืน หลังจากเกษียณอายุราชการตามประกาศเกษียณแล้ว สมาชิก กบข. จะมีสิทธิได้รับเงิน 2 ทาง

สมาชิกออกจากราชการแล้วจะถือว่าสมาชิกสิ้นสุดการเป็นสมาชิก โดยเมื่อได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการตามประกาศเกษียณแล้ว สมาชิก กบข. จะมีสิทธิได้รับเงิน 2 ทาง คือ เงินจากภาครัฐที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้ดำเนินการจ่ายคืนให้ คือ เงินบำเหน็จ หรือ เงินบำนาญ (เลือกรับตามสิทธิ์) และอีกทางคือ ได้รับเงินจาก กบข. ด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การรับเงิน กบข. คืน หลังจากเกษียณอายุราชการตามประกาศเกษียณแล้ว สมาชิก กบข. จะมีสิทธิได้รับเงิน 2 ทาง

1. กรณีสมาชิกมีสิทธิรับและเลือกรับบำเหน็จจากภาครัฐ จะได้รับเงินจาก กบข. ในส่วนของ เงินสะสม เงินออมเพิ่ม (ถ้ามี) เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว

2. กรณีสมาชิกมีสิทธิรับและเลือกรับบำนาญจากภาครัฐ จะได้รับจาก กบข. ในส่วนของ เงินสะสม เงินออมเพิ่ม (ถ้ามี) เงินสมทบ เงินประเดิม (ถ้ามี) เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว
สิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพสำหรับผู้ที่เกษียณอายุราชการ สมาชิกจะได้รับยกเว้นภาษี เนื่องจากเข้าเหตุ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 189) ดังนั้น สมาชิกที่เกษียณอายุ เมื่อได้รับเงินคืนจาก กบข. ไปแล้วเงินที่ได้รับคืนจาก กบข. ไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงสมาชิกยังสามารถนำเงินสะสม และเงินออมเพิ่ม (ถ้ามี) ไปลดหย่อนภาษีในปีภาษีที่เกษียณได้อีกด้วย

ขั้นตอนการขอรับเงินคืนจาก กบข.
สำหรับสมาชิกที่เกษียณอายุราชการ สามารถยื่นการขอรับเงินบำเหน็จบำนาญและเงิน กบข. ล่วงหน้าได้ 8 เดือนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป โดยสมาชิกสามารถทำผ่านระบบ Digital Pension ที่เป็นระบบของกรมบัญชีกลางได้ด้วยตนเอง หรือสมาชิกจะต้องติดต่อส่วนราชการต้นสังกัด เพื่อทำเรื่องขอรับเงินคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานสามารถทำผ่านระบบ Digital Pension ของกรมบัญชีกลางเช่นกัน โดยหากทำผ่านระบบ Digital Pension ไม่ต้องจัดส่งเอกสารมายัง กบข. แต่ถ้าไม่ทำผ่านระบบดังกล่าวสามารถจัดทำเป็นเอกสารการขอรับคืนและแนบเอกสารประกอบการยื่นเรื่องมายัง กบข. สำหรับเอกสารที่ใช้ในการขอรับเงินคืนมีดังนี้

1. กรณีรับบำนาญ
• แบบ กบข. รง 008/1/2555 ดาวน์โหลดได้ที่นี่ https://bit.ly/2G7moGh
• สำเนาคำสั่งออก พร้อมเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด
• สำเนาหนังสือสั่งจ่ายบำนาญ พร้อมเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด
• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก พร้อมสมาชิกรับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด
สำหรับสมาชิกที่สังกัดส่วนท้องถิ่น จะต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมดังนี้
• สำเนาคำสั่งโอนไปท้องถิ่น พร้อมเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้อง
• สำเนาคำสั่งการสั่งจ่ายบำนาญ (ซึ่งเป็นคำสั่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนลงนาม และเป็นหนังสือตราครุฑ)
• แบบคำนวณ บท. 4 (คือรายละเอียดการคำนวณบำนาญสูตร กบข.) เจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้อง
• สมุดประวัติ / ก.พ.7 ฉบับจริง (กรณีรับบำนาญ)

2. กรณีรับบำเหน็จ
• แบบ กบข. รง 008/1/2555 ดาวน์โหลดได้ที่นี่ https://bit.ly/2G7moGh
• สำเนาคำสั่งออก พร้อมเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด
• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก พร้อมสมาชิกรับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด

เมื่อหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว และจัดส่งมายัง กบข. ตามที่อยู่ ส่วนงานการจ่ายเงินคืนสมาชิกพ้นสภาพ ตู้ ปณ. 12 ปณ.สาทร กรุงเทพฯ 10341
สมาชิกสามารถเลือกที่จะรับเงินคืนจาก กบข. ทั้งจำนวน หรือจะเลือกฝากให้ กบข. บริหารเงินต่อให้โดยเลือกใช้ “บริการออมต่อ” กับ กบข. หากสมาชิกยังไม่มีแผนรีบใช้เงินก้อนหลังเกษียณทันที และอยากมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่ยังสามารถงอกเงยต่อได้ด้วยการลงทุน หรือเพื่อรอจังหวะเวลาให้ได้มูลค่า NAV ที่พอใจ โดยมีรูปแบบของบริการออมต่อมีให้เลือก 4 รูปแบบ ดังนี้

แบบที่ 1 ออมต่อทั้งจำนวน คือเลือกฝากเงินไว้ทั้งก้อนให้ กบข. นําไปลงทุนสร้างดอกผลให้ต่อ
เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่มีแผนใช้เงินออมที่ได้รับเมื่อออกจากราชการและไม่อยากนำเงินไปลงทุนเอง ต้องการให้มีผู้เชี่ยวชาญช่วยจัดการลงทุนให้

แบบที่ 2 ทยอยรับเงินเป็นงวด ๆ คือเลือกออมต่อโดยให้ กบข. ทยอยจ่ายเงินคืนให้เป็นงวดๆ เช่นรับทุกเดือนทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ ปีละครั้ง โดยช่วงที่ทยอยรับเงินคืนเป็นงวดนี้เงินส่วนที่ยังอยู่ในกองทุนก็ยังได้รับผลตอบแทนการลงทุนตลอดด้วย
เหมาะสำหรับผู้ที่มีความต้องการใช้เงินอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นรายงวดคล้ายบำนาญ ขณะเดียวกันก็ยังได้ผลประโยชน์ที่งอกเงยจากเงินออมในส่วนที่ กบข. ยังคงบริหารให้อยู่

แบบที่ 3 ขอรับเงินบางส่วน ที่เหลือให้ กบข.บริหารต่อ คือแบ่งบางส่วนรับคืนไปก่อน 1 ก่อน ส่วนที่เหลือฝากให้ กบข. ลงทุนให้ต่อและขอรับคืนเป็นก้อนภายหลัง
เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผนการใช้เงินเพียงจํานวนหนึ่งส่วนที่เหลือยังคงประสงค์ให้ กบข. บริหารจัดการต่อไป

แบบที่ 4 ขอรับเงินบางส่วน ที่เหลือทยอยรับเงินเป็นงวดๆ
คือ มีลักษณะเหมือนแบบที่ 2 และ 3 ผสมกัน คือ รับคืนบางส่วนไปก้อนก่อนนึง ส่วนที่เหลือฝากให้ กบข. ลงทุนต่อให้โดยให้ กบข. ทยอยจ่ายคืนเป็นงวด
เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผนการใช้เงินก้อนเพียงจํานวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือทยอยใช้ ขณะเดียวกันก็ยังได้ผลประโยชน์ที่งอกเงยจากเงินออมในส่วนที่ กบข. ยังคงบริหารจัดการให้อยู่

ประโยชน์ของการออมต่อ เป็นการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน และผลประโยชน์ที่ได้รับสมาชิกจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขอบคุณเนื้อหาจาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม ตัวชี้วัดคณิตศาสตร์ ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments