ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2565 วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2565 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่และมีผลบังคับใช้ทันที ส่งผลให้คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งของตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละสายงานเปลี่ยนไป ประกอบกับบริบทต่าง ๆ ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพบริบทในปัจจุบัน สามารถคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่มีความรู้ความสามารถตรงตามคุณลักษณะงานตามมาตรฐานตำแหน่ง มีทักษะ และศักยภาพในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ
โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
– หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ปรับปรุงในครั้งนี้ใช้สำหรับการคัดเลือกฯ ในทุกพื้นที่ โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกฯ ให้เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ตามมาตรฐานตำแหน่งฯ ตาม ว 3/2564 และมีบัญชีเดียวไม่แยกเป็นบัญชี สพป. และ สพม. ซึ่งผู้บริหารต้องสามารถขับเคลื่อนนโยบายในการบริหารจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกพื้นที่
– หลักสูตรการคัดเลือก ควรกำหนดให้มี 3 ภาค เช่นเดิม ได้แก่
ภาค ก ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ และความสามารถในการวิเคราะห์กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ประกอบด้วย 2 วิชา คือ
– วิชาความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ (คะแนน 50 คะแนน)
– วิชาความสามารถในการวิเคราะห์กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน (คะแนน 50 คะแนน)
ภาค ข ความสามารถทางการบริหาร (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ตามองค์ประกอบการประเมิน ดังนี้
– ประวัติและประสบการณ์ทางการบริหาร (คะแนน 50 คะแนน)
– ผลงาน (คะแนน 50 คะแนน)
ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ตามองค์ประกอบ ดังนี้
– วิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนา เขตพื้นที่การศึกษา (คะแนน 50 คะแนน)
– สัมภาษณ์ (คะแนน 50 คะแนน)
– เกณฑ์การตัดสิน
ผู้ผ่านการคัดเลือก ภาค ก ต้องได้คะแนน ไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าสิบ จึงจะมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ข และ ภาค ค
ผู้ได้รับการคัดเลือก ต้องได้คะแนน ภาค ก ภาค ข และ ภาค ค แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าสิบและต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ
โดยให้นำคะแนนทั้ง 3 ภาค มารวมกัน เพื่อให้ได้ผู้บริหารการศึกษาที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ มีประสบการณ์และศักยภาพ สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
– การขึ้นบัญชี กำหนดให้มีอายุ 2 ปี
– การบรรจุและแต่งตั้ง ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบตามมาตรฐานตำแหน่ง และจะต้องประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติหน้าที่ เป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
– การพัฒนาผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งฯ ให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด
ขอบคุณเนื้อหาจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม ลิงก์ลงทะเบียน อบรมออนไลน์ การสร้างใบงาน แบบมีปฏิสัมพันธ์ ด้วย Liveworksheet CCT (Coding Core Trainer)
ยอดลงทะเบียนหนี้ครูกว่า 4 หมื่นคน 70 สหกรณ์ครูลดดอกเบี้ยสูงสุด 1% ส่งเม็ดเงินเข้าระบบ 2.2 พันล้านบ.