วันที่ 25 เมษายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานและบรรยายพิเศษ “การประชุมจัดทำแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และการพัฒนาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของผู้เรียน” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-29 เมษายน 2565 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นคณะทำงานการจัดทำแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning สู่สมรรถนะผู้เรียน รวมทั้งสิ้น 80 คน
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวในการประชุมว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่เราได้เผชิญกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้นักเรียนจำนวนมากพบกับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ซึ่งจากการวิจัยของสภาการศึกษา พบว่า นักเรียนในระดับต่างกัน จะพบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น ในระดับประถมศึกษา พบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในด้านความรู้ การอ่าน คณิตศาสตร์ และคุณลักษณะของนักเรียน ส่วนในระดับมัธยมศึกษา พบว่า มีความถดถอยทั้งในด้านความรู้ การเชื่อมโยงความรู้ สภาวะทางอารมณ์ สัมพันธภาพ โดยมีสาเหตุที่หลากหลาย ทางด้านครูและผู้ปกครองก็ได้รับผลกระทบจากการต้องปรับตัวต่อการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้และการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น การมีตัวอย่างแนวทางการจัดการเรียนการสอนสำหรับครูและผู้เรียนที่ชัดเจน จะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะครูผู้สอน สามารถคลายความกังวล และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สพฐ. มีแนวคิดที่จะลดช่องว่างปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งด้านความรู้พื้นฐานที่จำเป็น กระบวนการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และอื่นๆ โดยดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และเติมเต็มด้วยตนเองนอกห้องเรียน ด้วยการทำกิจกรรมในรูปแบบที่สนุกสนาน ส่วนที่สอง สร้างความเข้าใจและส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูผู้สอนในลักษณะของ Active Learning ที่ให้ความสำคัญกับสมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของนักเรียน และวิเคราะห์กรอบแนวคิด (Concept) สำคัญของ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาต่างประเทศ (วิชาภาษาอังกฤษ) ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษา เพื่อนำมาออกแบบกิจกรรมสำหรับนักเรียน และจัดทำแนวทางการจัดการเรียนรู้ Active Learning ให้เกิดสมรรถนะ พร้อมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหาให้มีความหมาย ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่เรียนรู้และสามารถนำไปใช้ได้จริง สอดคล้องกับแนวทาง “3 : 3 : 4” นั่นคือ 3 กลุ่มทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ กลุ่มทักษะพื้นฐาน กลุ่มทักษะด้านการจัดการปัญหา และกลุ่มทักษะด้านคุณลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสร้างคุณลักษณะที่จะปลูกฝังให้นักเรียนสามารถเผชิญสถานการณ์ที่กำลังผันผวนในอนาคตได้ รวมถึง 3 ตัวชี้วัดของเลขาธิการ กพฐ. ได้แก่ 1. องค์ความรู้ 2. ทักษะอาชีพ 3.ทักษะชีวิต และน้อมนำพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 ทั้ง 4 ด้าน มาเป็นหลักคิดสำคัญในการพัฒนา ได้แก่ 1.มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม 3.มีงานทำ-มีอาชีพ 4.เป็นพลเมืองที่ดี
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาด้วยการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครู ให้คำนึงว่าเราจะสอนอย่างไรให้ไปถึง Ultimate Outcome โดยจัดการเรียนการสอนในแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน อาทิ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการตัวชี้วัด บูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพิ่มทัศนคติและคุณค่า (Attitude & Value) ด้วยกระบวนการ Active Learning, การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning โดยเริ่มจากตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุด มีความหมายกับนักเรียนมากที่สุด ให้เวลานักเรียนได้จัดระบบความคิดของตนเองต่อยอดจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และเกิดนวัตกรรมในที่สุด หรือการจัดระบบนิเวศ (Ecosystem) ในโรงเรียนที่เหมาะสม ทั้งสถานที่ บริบท เวลา ให้เอื้อต่อการเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่แนวทางการเติมความรู้ให้กับนักเรียนที่เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้นั้น สพฐ. โดย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนการเติมเต็ม Learning loss ในแบบองค์รวม ทั้งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ด้วยกระบวนการ Active Learning สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยแนวทาง 2 ด้าน คือ การรวมครูเพื่อศิษย์ ผ่านกระบวนการ PLC ที่มีคุณภาพ เน้นการปฏิบัติ ร่วมกันหาทางแก้ไข ส่งเสริม พัฒนา ต่อยอดศักยภาพของนักเรียน และการวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลผลการเรียน การพักอาศัยในครอบครัว ประวัติการส่งงาน ก็จะทำให้การเติมเต็ม Learning Loss ได้เป็นรายบุคคล และตรงตามสิ่งที่นักเรียนขาดหายไปได้อย่างแท้จริง
“สพฐ. พยายามหาแนวทางที่หลากหลายให้กับครูในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างเช่นครั้งนี้ที่ทำในมิติของการเชื่อมโยงกับหลักสูตรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เสมือนเป็นการเปิดโลกให้กับการเติม Learning Loss โดยสิ่งที่ต้องการเน้นย้ำ คือ การใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูในสถานการณ์ปัจจุบัน ถือเป็นช่วงนาทีทองที่จะพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามเป้าหมายทั้งในระดับชาติและระดับสากล ผ่านกระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ด้วย Active Learning อีกทั้งการรวมผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูในครั้งนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะร่วมกัน PLC ผ่านกระบวนการคิด วิพากษ์ ให้เกิดแนวปฏิบัติการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning ที่ชัดเจน และกลายเป็นตำราเดินได้ พร้อมใช้ พร้อมปฏิบัติ ช่วยครูทั้งประเทศได้เติมเต็ม Learning Loss ทำให้เกิด Impact ต่อคุณภาพนักเรียนค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ครูอัพเดตดอทคอม ขอขอบคุณข้อมูล สพฐ. ผนึกกำลังขับเคลื่อน Active Learning สู่การเติมเต็ม Learning Loss จาก ประชาสัมพันธ์ สพฐ.