ผลการประชุม คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2565
วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม 2565 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ หลักเกณฑ์และวิธีสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ขอกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ นั้น ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะในระดับดีเยี่ยม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรี และมีคุณลักษณะของบุคคลที่จะต้องได้รับการคัดสรรเป็นกรณีพิเศษ ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการเตรียมกำลังคนที่มีศักยภาพระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงควรเปิดให้มีการสอบแข่งขันเพื่อให้ได้บุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาปฎิบัติหน้าที่ จึงมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สังกัด สพฐ.ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครสอบแข่งขัน
– มีคุณสมบัติตามมาตรา 30 แห่ง พรบ. ครู พ.ศ. 2547
– มีคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่งฯ สำหรับตำแหน่งที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพในวันสมัครใบอนุญาตประกอบวิชาชีพดังกล่าวจะต้องไม่หมดอายุ
– สพฐ. อาจกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมหรือเงื่อนไขอื่นได้
– มีสิทธิสมัครสอบแข่งขันได้เพียงตำแหน่งเดียว
การสอบแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ภาค
– ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป
– ภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง
– ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง
เกณฑ์การตัดสิน
ผู้สอบแข่งขันต้องได้คะแนนภาค ก ภาค ข และภาค ค ในแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยให้ประกาศรายชื่อเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย
การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ กำหนดไว้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
การบรรจุและแต่งตั้ง
– ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยอนุมัติ กศจ. และให้ส่งสำเนาคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไปยัง สพฐ., สพม. และสำนักงาน ก.ค.ศ. ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันออกคำสั่ง
– ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งต้องได้รับการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่ง รวมทั้ง ปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่ สพฐ. กำหนด (ถ้ามี) โดยให้ระบุไว้ในประกาศรับสมัครสอบแข่งขันและเมื่อบรรจุและแต่งตั้ง
2. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับเงินเพิ่ม ตามระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งด้านพัสดุ พ.ศ. 2564
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้ออกระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งด้านพัสดุ พ.ศ. 2564 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการฯ นี้ กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุและเจ้าพนักงานพัสดุที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนตามมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนด ดังนั้นเพื่อให้หน่วยงานการศึกษาหรือส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันในการพิจารณาขอรับเงินเพิ่ม ดังกล่าวฯ จึงเห็นควรกำหนด (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับเงินเพิ่ม ตามระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตำแหน่งด้านพัสดุ พ.ศ. 2564 ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ให้ผู้มีสิทธิขอรับเงินเพิ่ม กรอกรายละเอียดลงใน “แบบขอรับเงินเพิ่มฯ” พร้อมแนบหลักฐาน ได้แก่ สำเนาวุฒิบัตรผ่านการอบรมฯ และสำเนาคำสั่งแต่งตั้ง ยื่นเสนอต่อส่วนราชการหรือหน่วยงานการศึกษาผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับ
2. ส่วนราชการหรือหน่วยงานการศึกษาตรวจสอบเอกสารและคุณ สมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเพิ่มตามระเบียบ ก.ค.ศ.ฯ
3. ส่วนราชการหรือหน่วยงานการศึกษานำเสนอ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง พิจารณาและให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งดำเนินการออกคำสั่ง
4. การจ่ายเงินเพิ่มให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ผู้มีสิทธิขอรับเงินเพิ่มมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ไม่ก่อนวันที่ระเบียบ ก.ค.ศ.ฯ มีผลใช้บังคับ
5. หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานการศึกษากำกับดูแลให้เป็นไปตามระเบียบ ก.ค.ศ.ฯ โดยเคร่งครัดหากภายหลังตรวจสอบแล้วพบว่า การขอรับเงินเพิ่มของผู้ใดมีการแจ้งข้อมูลหรือรับรองข้อมูลอันเป็นเท็จให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัย
3. เห็นชอบ รายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณารายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา (ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ.) เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด (ว8/2564) ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้ได้ผู้บริหารที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนงานนโยบายในการบริหารสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ จึงเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าว ตามที่ สพฐ. เสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
องค์ประกอบในการคัดเลือก
– ภาค ก ความรู้ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ (๑๐๐ คะแนน)
– ภาค ข ประวัติ ประสบการณ์ และผลงาน (๑๐๐ คะแนน)
– ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (๑๐๐ คะแนน)
เกณฑ์การตัดสิน
– ผู้ผ่านการคัดเลือก ภาค ก ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ จึงมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ข และ ภาค ค
– ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนนแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ โดยให้ประกาศรายชื่อเรียงตามลำดับผู้ที่ได้คะแนนรวมทั้ง ๓ ภาค จากมากไปหาน้อย
เงื่อนไขระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก
– ไม่เกินสองปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก เว้นแต่มีประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกครั้งใหม่ บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกครั้งก่อนเป็นอันยกเลิก
การบรรจุและแต่งตั้ง
– ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๓ บรรจุและแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่งตามลำดับที่
4. เห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ตามที่ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 โดยข้อ 5 ของประมวลจริยธรรมฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้จัดทำแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานี้ ให้เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ดังนั้น ก.ค.ศ. จึงได้ดำเนินการกำหนดแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องรักษาจริยธรรมอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ โดยต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีคุณธรรม โดยมีแนวทางการประพฤติปฏิบัติตน ดังต่อไปนี้
1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประซาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และต่อผู้เกี่ยวข้อง ในฐานะข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา
3) กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าแสดงออก และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
4) มีจิตอาสา จิตสาธารณะ มุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง
5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน มุ่งมั่นในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ที่สะท้อนถึงคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษา
6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
8) เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงสิทธิเด็ก และยอมรับความแตกต่างของบุคคล
ข้อ 2 แนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานี้ เป็นกรอบแนวทางที่แสดงถึงการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งในการปฏิบัติตนจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง สภาพแวดล้อม และปัจจัยในขณะนั้นด้วย
ข้อ 3 กรณีที่ส่วนราชการมีการจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมเพื่อใช้บังคับกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดเพิ่มเติมจากประมวลจริยธรรม ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารักษาจริยธรรมตามข้อกำหนดจริยธรรมที่ส่วนราชการกำหนดเพิ่มเติมนั้นด้วย
ข้อ 4 ให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าส่วนราชการและผู้บังคับบัญชาในการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและข้อกำหนดจริยธรรมของส่วนราชการ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นแบบอย่างที่ดี
5. อนุมัติ ย้ายและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะเดิม ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งใหม่ จำนวนรวม 17 ราย
6. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับการคัดเลือกและผ่านการพัฒนาก่อนการแต่งตั้งฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. จำนวนรวม 4 ราย
7. อนุมัติ ย้ายและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะเดิม ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งใหม่ จำนวนรวม 11 ราย
8. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับการคัดเลือกและผ่านการพัฒนาก่อนการแต่งตั้งฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. จำนวนรวม 40 ราย
ขอบคุณเนื้อหาจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม สพฐ.ย้ายและบรรจุแต่งตั้ง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา และรอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ลงวันที่ 27 มกราคม 2565