วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกHILIGHTครูไม่พานักเรียนไปทัศนศึกษาในวันหยุด : ต้องยื่นใบลาหรือไม่ ?

ครูไม่พานักเรียนไปทัศนศึกษาในวันหยุด : ต้องยื่นใบลาหรือไม่ ?

ครูไม่พานักเรียนไปทัศนศึกษาในวันหยุด : ต้องยื่นใบลาหรือไม่ ?

ครูไม่พานักเรียนไปทัศนศึกษาในวันหยุด : ต้องยื่นใบลาหรือไม่ ?

วันนี้ ครูอัพเดท ขอยกเรื่องราวที่เป็นอุทาหรณ์ จากคดีของศาลปกครอง มาให้ลองอ่านดูครับ…

ครูไม่พานักเรียนไปทัศนศึกษาในวันหยุด : ต้องยื่นใบลาหรือไม่ ?
ข้าราชการ นับว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความมั่นคง จึงมีผู้ให้ความสนใจในการสมัครสอบแข่งขัน เพื่อเข้ารับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการจํานวนมาก โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา สํานักงาน ก.พ. ได้รายงานสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานในราชการพลเรือนว่ามีผู้สนใจสมัครสอบ จํานวน กว่า 500,000 คน
เมื่อได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการแล้ว สิ่งสําคัญสําหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ก็คือ ความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกําลังความสามารถ และคํานึงถึงประโยชน์ของราชการเป็นที่ตั้ง รวมทั้งต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัย และเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
สําหรับสาระน่ารู้จากคดีปกครองในวันนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ข้าราชการซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันหยุดราชการ แต่ข้าราชการ คนดังกล่าวมีความจําเป็นที่ไม่อาจไปปฏิบัติหน้าที่ได้ ข้าราชการผู้นั้น ต้องยื่นใบลาหรือไม่

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการครู ได้รับคําสั่งจากผู้อํานวยการโรงเรียน แต่งตั้งให้เป็นคณะครูในการควบคุมดูแลนักเรียนไปทัศนศึกษาในวันเด็กแห่งชาติที่ต่างจังหวัด ในระหว่าง วันศุกร์ที่ 13 ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม ซึ่งวันเสาร์ที่ 14 และวันอาทิตย์ที่ 15 นั้น เป็นวันหยุดราชการตามปกติ แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีกิจธุระส่วนตัวที่จะต้องดูแลบิดาที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง จึงได้มีหนังสือขออนุญาต ไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งดังกล่าว โดยขอรับผิดชอบดูแลกิจกรรมอื่นทดแทน ซึ่งผู้อํานวยการโรงเรียน ได้มีคําสั่งท้ายหนังสือขออนุญาตของผู้ฟ้องคดีว่า “ทราบ ให้ลากิจ” ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นใบลากิจส่วนตัว ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 มีกําหนด 2 วัน ซึ่งผู้อํานวยการโรงเรียนก็ได้อนุญาตตามคําขอ

ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องทุกข์กรณีดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฯ เขต 2 (อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาฯ) เพื่อขอให้เพิกถอนคําสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีลากิจ เนื่องจากเห็นว่าเป็นคําสั่งที่มีผลกระทบกับวันลากิจของผู้ฟ้องคดี ในการพิจารณาความดีความชอบ ซึ่งอกค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาฯ พิจารณาแล้วมีมติให้ยกคําร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คําสั่งของผู้อํานวยการโรงเรียนที่ให้ผู้ฟ้องคดีลากิจและมติของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาฯ ที่ให้ยกคําร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในวันศุกร์ที่ 13 ผู้ฟ้องคดีได้มา ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ ส่วนในวันเสาร์ที่ 14 และวันอาทิตย์ที่ 15 เป็นวันหยุดราชการอยู่แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคําพิพากษาเพิกถอนคําสั่งและมติดังกล่าว
คดีมีประเด็นที่พิจารณา ดังนี้

ประเด็นแรก… ผู้อํานวยการโรงเรียนออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติหน้าที่ดูแล นักเรียนที่ไปทัศนศึกษาในวันหยุดราชการได้หรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 4 ได้กําหนดคํานิยามของคําว่า “การพานักเรียนและนักศึกษา ไปนอกสถานศึกษา” หมายความว่า การที่ครู อาจารย์ หรือหัวหน้าสถานศึกษาพานักเรียนและนักศึกษา ไปทํากิจกรรมการเรียนการสอนนอกสถานศึกษาตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งอาจไปเวลาเปิดทําการสอน หรือไม่ก็ได้ และข้อ 11 กําหนดว่า ให้ถือว่าครู อาจารย์ หรือผู้ควบคุมนักเรียนและนักศึกษา ไปปฏิบัติ หน้าที่ราชการและให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้อํานวยการโรงเรียน (ผู้ถูกฟ้องคดี) จัดโครงการพานักเรียน ไปทัศนศึกษาเนื่องในวันเด็กแห่งชาติที่จังหวัดเพชรบุรีโดยชอบตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วย การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาฯ และได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะครูให้ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุม กํากับ ดูแลนักเรียนไปทัศนศึกษา โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับคําสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งการพานักเรียน ไปทัศนศึกษานั้น ถือเป็นการพานักเรียนไปทํากิจกรรมการเรียนการสอนนอกสถานศึกษาตั้งแต่สองคนขึ้นไป กรณีจึงอาจไปในเวลาเปิดทําการสอนหรือไปนอกเวลาเปิดทําการสอนตามปกติก็ได้ตามข้อ 4 ของระเบียบดังกล่าว
ดังนั้น ผู้อํานวยการโรงเรียนในฐานะผู้บังคับบัญชาจึงมีอํานาจออกคําสั่งแต่งตั้งผู้ฟ้องคดี ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุม กํากับ ดูแลนักเรียนไปทัศนศึกษาในวันหยุดราชการได้

ประเด็นพิจารณาต่อมา…. การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ในวันหยุดราชการ เนื่องจากมีเหตุผลความจําเป็นส่วนตัว ซึ่งผู้อํานวยการโรงเรียนเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควร จึงสั่งให้ผู้ฟ้องคดียื่นใบลากิจนั้น เป็นการกระทําที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลท่านเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ได้รับคําสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุม กํากับ ดูแล นักเรียนไปทัศนศึกษาวันเด็กแห่งชาติ และแม้ว่าในวันที่ 14 และวันที่ 15 มกราคม จะเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการตามปกติ แต่การพานักเรียนไปทัศนศึกษาดังกล่าวถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และเป็นช่วงเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีและคณะครูผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ตามคําสั่งของผู้อํานวยการโรงเรียน ตามข้อ 11 ของระเบียบเดียวกัน ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามคําสั่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาตให้ลาตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2535 ผู้ฟ้องคดีก็อาจมีความผิดทางวินัยได้

การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุจําเป็นที่จะต้องดูแลบิดาที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ไม่สามารถเดินทาง ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายได้ จึงมีหนังสือขออนุญาตที่จะไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ได้รับมอบหมาย ซึ่งผู้อํานวยการโรงเรียนได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดียื่นใบลากิจตามระเบียบราชการและได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีเหตุผลอันสมควรจริงและมีคําสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีลากิจส่วนตัวได้ จึงเป็นการปฏิบัติตาม ข้อ 19 วรรคหนึ่ง ของระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2535 (ใช้บังคับแก่ข้าราชการครูอยู่ในขณะ เกิดข้อพิพาท ซึ่งปัจจุบันคือ ข้อ 21 ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555) แล้ว
ดังนั้น การที่ผู้อํานวยการโรงเรียนสั่งให้ผู้ฟ้องคดียื่นใบลากิจส่วนตัวและมีคําสั่งอนุญาตให้ ผู้ฟ้องคดีลากิจ จึงเป็นการกระทําที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 77/2563)

บทสรุปที่ได้จากคดีดังกล่าว
1. การที่ข้าราชการครูได้รับมอบหมายให้พานักเรียนไปทัศนศึกษา ถือเป็นการพานักเรียนไป ทํากิจกรรมการเรียนการสอนนอกสถานศึกษา ซึ่งอาจไปในเวลาเรียนปกติหรือไปในวันหยุดก็ได้ และถือว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของครูผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

2. กรณีข้าราชการครูซึ่งไม่อาจไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในวันหยุดราชการตามที่ได้รับ มอบหมายได้ จะต้องยื่นใบลาตามระเบียบราชการ และจะต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ในวันดังกล่าวได้

3. หากข้าราชการครูไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายในวันหยุดราชการ และผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาตให้ลาหรือเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร อาจถูกดําเนินการทางวินัยฐานขัดขึ้น หรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามนัยมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ได้

เรื่องนี้ นับว่าเป็นประโยชน์แก่ข้าราชการทั่วไปไม่เพียงแต่ข้าราชการครู ซึ่งอาจได้รับมอบหมาย ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันหยุดราชการตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้จะต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเสียก่อน โดยต้องยื่นใบลา ตามระเบียบของทางราชการ เว้นแต่มีเหตุจําเป็นที่ไม่สามารถรอรับอนุญาตได้ทัน จะเสนอหรือจัดส่งใบลา พร้อมด้วยระบุเหตุจําเป็นไว้ แล้วหยุดราชการไปก่อนก็ได้ แต่จะต้องชี้แจงเหตุผลให้ผู้มีอํานาจอนุญาตทราบ โดยเร็ว ทั้งนี้ ตามข้อ 21 ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555

ขอบขอบคุณเนื้อหาจาก ศาลปกครอง เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง
เรื่องราวเพิ่มเติม คู่มือการลา การได้รับเงินเดือน และการเลื่อนเงินเดือนระหว่างลา สำหรับข้าราชการ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments