ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 12/2564 วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
สืบเนื่องจากที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ (ว21/2555) (ว19/2560) และ (ว33/2560) นั้น สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้พิจารณาทบทวนและศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบการสรรหาและคัดเลือกศึกษานิเทศก์ โดยได้วิเคราะห์สภาพปัจจุบันและสภาพปัญหาของระบบการสรรหาและคัดเลือกศึกษานิเทศก์ พบว่าหลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้อยู่ ไม่สามารถสรรหาศึกษานิเทศก์ที่มีสมรรถนะได้ตรงกับความต้องการและบริบทของการจัดการศึกษาในปัจจุบัน หรือแม้แต่การได้มาซึ่งศึกษานิเทศก์ควรกำหนดแนวทางในการคัดเลือกที่หลากหลาย หรือแม้แต่การสอบข้อเขียนอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมแนวทางเดียวสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ได้มาซึ่งศึกษานิเทศก์ที่มีลักษณะเป็นโค้ช (Coach) เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ตรงตามลักษณะงานในมาตรฐานตำแหน่งฯ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริหาร ครู และชุมชน ศึกษานิเทศก์จะเป็นผู้มีทักษะการนิเทศการศึกษาที่ดี ทั้งในด้านวิชาการและด้านการปฏิบัติ รวมทั้งเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนการสอนร่วมกับครูได้ และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ (ว3/2564) และเพื่อให้การคัดเลือกของแต่ละส่วนราชการเป็นมาตรฐานเดียวกัน ก.ค.ศ. จึงมีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ โดยใช้กับทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก เป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่งฯ ตาม ว 3/2564
การคัดเลือก ใช้วิธีการประเมิน 2 ด้าน คือ 1. ด้านผลงานและประสบการณ์ 2. ด้านความสามารถในการนิเทศการศึกษาโดยการปฏิบัติการนิเทศ ณ สถานที่จริง
เกณฑ์การตัดสิน ผู้เข้ารับการคัดเลือกต้องได้ด้านที่ 1 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะมีสิทธิเข้ารับการประเมินด้านที่ 2 โดยผู้ได้รับ การคัดเลือกจะต้องได้แต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้ ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการขึ้นบัญชีไว้ไม่เกิน 2 ปี โดยเมื่อได้บรรจุและแต่งตั้งแล้วจะต้องรับการประเมินผลสัมฤทธิการปฏิบัติงานในหน้าที่ (Probation) เป็นเวลา 1 ปี 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ต่อไปได้ พร้อมกันนี้ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว21/2555) (ว19/2560) และ (ว33/2560)
2. เห็นชอบ รายละเอียดการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี)
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี) เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 8 ลงวันที่ 26 เมษายน 2562 ข้อ 5 กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี เมื่อส่วนราชการดำเนินการตามข้อ 5 แล้ว ให้นำเสนอ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแจ้ง กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ดำเนินการต่อไป โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลฯ ดังนี้
องค์ประกอบในการคัดเลือก มีการทดสอบ 3 ภาค
ภาค ก สมรรถนะในการบริหารงาน (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ (คะแนนเต็ม 150 คะแนน)
ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
เกณฑ์การตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกภาค ก ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงมีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ข และภาค ค ผู้ผ่านภาค ข และภาค ค แต่ละภาคต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 และได้คะแนนรวมทั้ง 3 ภาค แล้ว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 โดยให้ประกาศรายชื่อเรียงตามลำดับคะแนนรวม ภาค ก ภาค ข และภาค ค จากมากไปหาน้อย กรณีคะแนนรวมเท่ากัน ให้ผู้ได้คะแนนภาค ข มากกว่าอยู่ในลำดับที่ดีกว่า หากคะแนนภาค ข เท่ากัน ให้ผู้ได้คะแนนภาค ค มากกว่าอยู่ในลำดับที่ดีกว่า หากคะแนน ค ยังเท่ากันอีกให้ผู้อาวุโสเป็นผู้อยู่ในลำดับที่ดีกว่า
เงื่อนไขการขึ้นบัญชี ขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกไว้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชี
ทั้งนี้ ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งฯ และมีผลการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อการพัฒนาการศึกษาทั้ง 2 ครั้ง ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ต้องอยู่ปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวต่อไปอีกเป็นเวลา 3 ปี
นับแต่วันที่มีผลการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ฯ ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จึงจะเปลี่ยนตำแหน่ง ย้าย หรือโอนออกนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ฯ ได้
โดย ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่ารายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกฯ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเสนอ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด (ว 8/2562) และสอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา (ว 3/2564) บริบทของสถานศึกษา และหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาในการบริหารกิจการของสถานศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงมีมติเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเสนอ
เรื่องน่าอ่าน >>“ตรีนุช” ปลื้ม ครูขานรับระบบการประเมินวิทยฐานะฯ ใหม่ (PA) ลดภาระงานครู ดีเกินคาด เตรียมรายงาน ครม. เพื่อทราบ
3. เห็นชอบ การขอยกเว้นเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อบรรจุนักเรียนทุนตามโครงการต่าง ๆ
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สพฐ.) ได้ขอยกเว้นเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ตาม ว23/2563 เพื่อบรรจุนักศึกษาทุนตามโครงการต่าง ๆ กรณีสถานศึกษามีสภาพอัตรากำลังสายงานการสอนพอดีเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ แต่ขาดครูตามมาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดให้มีในสถานศึกษา จำนวน 344 อัตรา และไม่ขาดครูตามสาขาวิชาเอกที่กำหนดให้มีในสถานศึกษา จำนวน 50 อัตรา รวมทั้งสิ้น 394 อัตรา ซึ่งที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว 23/2563) จะกำหนดอัตรากำลังสายงานการสอนให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดให้มีในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาหรือระดับมัธยมศึกษา แต่เมื่อพิจารณาว่า นักศึกษาทุน
ตามโครงการต่าง ๆ ได้ทำสัญญาผูกพันตามโครงการอยู่ก่อนวันที่เกณฑ์อัตรากำลังฯ มีผลใช้บังคับ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งนักศึกษาทุนตามโครงการต่าง ๆ เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อผูกพัน ของโครงการต่าง ๆ จึงเห็นชอบให้กำหนดเป็นหลักการ ให้บรรจุนักศึกษาทุนโครงการนักเรียนทุนรัฐบาลที่ได้ทำสัญญาผูกพันตามโครงการอยู่ก่อนวันที่เกณฑ์อัตรากาลัง ตาม ว 23/2563 จะมีผลใช้บังคับ รวมทั้งนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี พ.ศ. 2564 โดยให้พิจารณาตามลำดับ ดังนี้
1. ให้พิจารณาบรรจุและแต่งตั้งในวิชาเอกตามมาตรฐานวิชาเอก ในสถานศึกษาที่เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อผูกพันของโครงการ ซึ่งมีอัตรากำลังในสาขาวิชาเอกนั้นต่ำกว่าเกณฑ์อัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนดตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 23 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ก่อน
2. หากไม่มีสถานศึกษาตามข้อ 1 ให้พิจารณาบรรจุและแต่งตั้งในวิชาเอกตามมาตรฐานวิชาเอกในสถานศึกษาที่เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อผูกพันของโครงการ ซึ่งมีอัตรากำลังในสาขาวิชาเอกนั้นพอดี หรือเกินเกณฑ์อัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนด ตาม ว 23/2563
ทั้งนี้ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และ กศจ. จัดทำแผนอัตรากำลัง และดำเนินการกำหนดตำแหน่งเพื่อบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดตำแหน่งเพื่อบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตาม ว 26 /2564 ไปจนกว่าสถานศึกษานั้นจะมีอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปตามเกณฑ์อัตรากาลังที่ ก.ค.ศ. กำหนด ตาม ว 23/2563 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563
ครูอัพเดตดอทคอม ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 12/2564 จาก เว็บก.ค.ศ.