วันอังคาร, ตุลาคม 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกHILIGHTใบประกอบวิชาชีพครู : ความภาคภูมิใจในความเป็นครู โดย ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา

ใบประกอบวิชาชีพครู : ความภาคภูมิใจในความเป็นครู โดย ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา

ใบประกอบวิชาชีพครู : ความภาคภูมิใจในความเป็นครู โดย ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา

 

ใบประกอบวิชาชีพครู : ความภาคภูมิใจในความเป็นครู

ครู คือ ปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ครู คือ มนุษย์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนที่จะพัฒนาคุณลักษณะของตนเองและสร้างค่านิยมต่างๆ ให้เกิดขึ้น  ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ สามารถมาแทนที่ครูได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว นั่นคือว่าทำไมครูที่ดีจึงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ได้ ด้วยการพัฒนาพวกเขาให้เป็นพลเมืองที่ดีและมีความสามารถ ทั้งในระดับชาติและระดับเป็นพลเมืองของโลกด้วย” (พระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ ปี ๒๕๖๒)

คุณภาพของระบบการศึกษา ไม่สามารถสูงว่าคุณภาพของครู(เลขาธิการสภาการศึกษา, สำนักงาน. ๒๕๕๓ : ๒๔) ข้อความนี้เป็นผลสรุปจากการศึกษาระบบโรงเรียนที่จัดการศึกษาได้คุณภาพระดับโลกของประเทศต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญสูงสุดของผู้ประกอบวิชาชีพครู

บทบาท “วิชาชีพครู” ในกฎหมายหลายฉบับ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้ความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาอย่างมาก โดยบัญญัติไว้ใน หมวด  ๑๖ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๕๘ จ. ด้านการศึกษา (๓) ให้มีกลไกและระบบการผลิต  คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู  มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง  ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับ ความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

การพัฒนาประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ที่ออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา ๖๕ รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ  ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ ให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตาม มาตรา ๖ ยุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (๑) วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ (๒) เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว กําหนดระยะเวลาที่ต้องดําเนินการเพื่อให้บรรลุ เป้าหมาย  และตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย (๓) ยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ  

ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จึงเป็นการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ มีกฎหมายรองรับในระดับรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติ มีผลผูกพันทุกภาคส่วนกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ ๕ ปี จากปี พ.ศ. ๒๕๐๑ จนถึงปัจจุบันเป็นฉบับที่ ๑๒ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหลักในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ แต่ดูเหมือนว่า จะเป็นเครื่องมือที่ไม่ทรงพลังต่อการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควรจะเป็น ด้วยปัจจัยทางการเมืองที่ผู้บริหารประเทศในแต่ละยุคสมัยมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลและ คณะผู้บริหารประเทศ จึงผลิตนโยบายสาธารณะที่แตกต่างกัน จึงจะเห็นได้ว่าจะเป็นนโยบายในระยะสั้น ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในช่วงระยะเวลานั้นๆ เป็นหลัก

นอจากนี้ บทบาทสำคัญของการจัดการศึกษาต่อการพัฒนาประเทศ ยังกำหนดแนวทางสำคัญในพระราชบัญญัติ แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.๒๕๖๐ กำหนดอะไร สำคัญอย่างไรมาตรา ๘ ให้จัดทําแผนการปฏิรูปประเทศ ๑๑ ด้าน โดยใน ด้านที่ (๕) ด้านการศึกษา มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งในปี 2560-2562 เป็นคณะทำงานจัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ทั้งหมด 7 ด้าน โดยเฉพาะด้านที่ 1 การปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งมี (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ…. เป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่ง สถานะของแผนปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และทิศทางการจัดการศึกษา

รายละเอียดที่สามารถกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาในระดับปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนระดับต่างๆ นั้น พิจารณาได้จากแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิต อย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ ๒๑” (แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙)โดยให้ความสำคัญกับผู้ประกอบวิชาชีพครูไว้ในยุทธศาสตร์ที่ ๓ ข้อ ๓.๗ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการพัฒนาสมรรถนะตาม มาตรฐาน มีตัวชี้วัดที่สำคัญ เช่นครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับและประเภท การศึกษาได้รับการพัฒนาตามมาตรฐานวิชาชีพและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการและยุทธศาสตร์ของหน่วยงานเพิ่มขึ้น และ ระดับความพึงพอใจของครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่มีต่อการพัฒนาและการใช้ ประโยชน์จากการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นต้นโดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาคือ ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้สื่อตำราเรียน และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ สร้างเสริมและปรับเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยให้มีวินัยจิตสาธารณะ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และพัฒนาระบบและกลไกการติดตาม การวัด และประเมินผลผู้เรียน ให้มีประสิทธิภาพและมีแผนงานและโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเป็นต้น

จากพัฒนาการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดศึกษาข้างต้น ความคาดหวัง เป้าหมายความสำเร็จของการขับเคลื่อนประเทศ จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ผู้มีบทบาทสำคัญไม่น้อยที่ไม่อาจปฏิเสธได้อีกหนึ่งวิชาชีพ คือ วิชาชีพครู จะเรียกได้ว่า เป็นผู้กำหนดอนาคตของชาติก็ไม่ผิดนัก

ใบประกอบวิชาชีพครู วิชาชีพชั้นสูง

คำว่า “อาชีพ” (Career) เป็นกิจกรรมที่ต้องทำให้สำเร็จโดยมุ่งหวังค่าตอบแทนเพื่อการดำรงชีพเท่านั้น ส่วนคำว่า “วิชาชีพ” (Profession) เป็นอาชีพให้บริการแก่สาธารณชนที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเป็นการเฉพาะ ไม่ซ้ำซ้อนกับวิชาชีพอื่น มีการควบคุมการประกอบวิชาชีพให้มีมาตรฐานเหมาะสมกับสถานะของวิชาชีพ ส่วนความเป็น “วิชาชีพชั้นสูง” หมายถึง วิชาชีพที่ประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา (Intellectual Method) อบรมมาอย่างเพียงพอ (Long Period of Training) มีมาตรฐานวิชาชีพ (Professional Autonomy) มีจรรยาบรรณของวิชาชีพ (Professional Ethics) มีสถาบันวิชาชีพ(Professional Institution) และมีองค์กรวิชาชีพ (Professional Organization)

เมื่อวิชาชีพครู เป็น “วิชาชีพชั้นสูง” จึงถูกกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุม ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.. 2546  คุรุสภาเป็นองค์กรวิชาชีพ มีภารกิจควบคุม พัฒนา ธำรงวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ดังมาตราสำคัญ ดังนี้

มาตรา 43 ให้วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา เป็นวิชาชีพควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ ฯ

มาตรา 44 ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุม ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามต่อไปนี้

(ก) คุณสมบัติ (๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์   (๒) มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเทียบ หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง  (๓) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

(ข) ลักษณะต้องห้าม (๑) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี  (๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  (๓) เคยต้องโทษจำคุกที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

มาตรา 46 ห้ามมิให้ผู้ใดแสวงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ตนมีสิทธิหรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคุรุสภา และห้ามมิให้สถานศึกษารับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุรุสภา

มาตรา 48 ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตต้องประพฤติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา

มาตรา 49 ให้มีข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ ประกอบด้วย (๑) มาตรฐานด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ  (๒) มาตรฐานการปฏิบัติงาน (๓) มาตรฐานการปฏิบัตตน

ความสรุปว่า ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูได้ ย่อมต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แปลว่า ไม่ผ่านคุณสมบัติในการประกอบวิชาชีพครู เพราะวิชาชีพครู เป็นอาชีพที่มีความรับผิดชอบทางสังคมสูง

ความเป็นครู เกิดจากการสะสมบ่มเพาะ

ถ้าย้อนนึกถึงวัยเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา เมื่อครูถามว่า โตขึ้นเด็กๆ อยากเป็นอะไร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คำตอบที่ไม่เคยห่างหายไปจากจิตนาการของเด็กๆ คือ อาชีพครู มิใช่เป็นเพราะว่าโลกทัศน์ของเด็กๆ ยังไม่ขยายกว้างขวาง ยังไม่เคยสัมผัสกับอาชีพอื่นๆ ในสังคมมากนัก แต่ภาพความเป็นครูในจินตนาการของเด็กๆ นั้น เต็มไปด้วยชีวิตที่อยู่ในอุดมคติ มีความสมบูรณ์ ได้รับการยกย่อง เชิดชู เป็นตัวแทนของความเก่ง ดี มีสุขในสังคมแวดล้อมเท่าที่วัยเด็กได้รับรู้ การใช้ชีวิตของเด็กในโรงเรียนอันยาวนาน ปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างครูกับนักเรียน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็น จากปีเป็นหลายๆ ปี จนกว่าจะหลุดพ้นจากรั้วโรงเรียนนั้น เด็กๆ ได้ซึมซับเอาความดีงาม ความรู้สึกที่ดี จิตคำนึงของคนเป็นครูที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี ความจริงใจที่มีต่อลูกศิษย์ของตนเสมอมา ไม่ว่าจะเด็กๆ แต่ละคนจะมีพฤติกรรมอย่างไร ผู้ที่ประกอบวิชาชีพครูทุกคน นอกจากการทำหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ได้รับความรู้เต็มตามหลักสูตรแล้ว ยังอบรมบ่มนิสัย ขัดเกลาอุปนิสัยให้เป็นคนดี เพื่ออนาคตของตัวเด็กเอง คนเป็นครูจะซึมซับอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้จนกระทั่งเกษียณ

ปรากฎการณ์ดังข้อความข้างต้น มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดในหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้ใน ว22/2560 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ด้านความเป็นครูซึ่งประกอบด้วย () ยึดมั่น ผูกพัน ศรัทธาในวิชาชีพ และทุ่มเทเพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน () มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ทั้งกาย วาจา และจิตใจ ดำรงตนให้เป็นที่เคารพ ศรัทธา และน่าเชื่อถือทั้งใน และนอกสถานศึกษา  () ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพครู  () มีวินัยและการรักษาวินัย  () เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ให้มีความรู้ความชำนาญในวิชาชีพ เพิ่มขึ้น  () ปฏิบัติตนโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ () มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง

หากพิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว มาตรฐานวิชาชีพซึ่งกำหนดในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2549 มาตรา 49 เพื่อกำกับการมีใบประกอบวิชาชีพครูนั้น เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของพฤติกรรมการปฏิบัติงานของครู หมายความว่า การปฏิบัติงานในหน้าที่โดยปกติของครูนั้น เกินกว่านิยามความหมาย “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ด้วยซ้ำ

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความเป็นวิชาชีพชั้นสูงผ่านใบรับรองความเป็นครู

หลังจากที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้นำเสนอแผนปฏิรูปการศึกษาที่ต่อประชุมคณะรัฐมนตรี และเห็นชอบมาเป็นกฎหมายแล้วนั้น ก็ปรากฏว่า มีการนำเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ ให้มีใบรับรองความเป็นครูแทนใบประกอบวิชาชีพครู พิจารณาจากมาตรา ๓๔ และมาตรา ๙๘ สาระสำคัญคือ ผู้ที่มีคุณลักษณะทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีคุณลักษณะเฉพาะหรือมีวิชาครูก็ สามารถมีใบรับรองความเป็นครูได้ รวมทั้งครูในปัจจุบันก็เปลี่ยนจากใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครูแทนก็ได้

สภาครูจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยสมาชิกสภาครู 25 อำเภอ ได้เคยศึกษาวิเคราะห์ ระดมความคิดเห็น เก็บรวบรวมข้อมูล และประมวลผลข้อมูลจากความคิดเห็นของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศผ่านการตอบแบบสอบถามจากโปรแกรมกูเกิ้ลฟอร์มระหว่าง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 22.08 น.ถึง 26 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 17.44 น. จำนวนข้อมูลที่ยุติเพื่อการประมวลผล ทั้งสิ้น 10,855 ท่าน แบ่งเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนร้อยละ 49.8 ครูผู้สอน ร้อยละ 37.5 พบว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการเปลี่ยนแปลงจาก “ใบประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” และนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดเรื่อยมาจนปัจจุบัน

คำว่า “ใบประกอบวิชาชีพครู” กลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย เป็นสื่อแสดงถึงจิตวิญญาณความเป็นครู มีนัยแห่งความภาคภูมิใจในความเป็นครู ทั้งนี้ทุกงานวิจัยทั่วโลกต่างยอมรับว่า ความภาคภูมิใจในความเป็นครู หรือ ความภาคภูมิใจในใบประกอบวิชาชีพครู เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ครูอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่สังคมคาดหวังได้

หากฝ่ายผู้มีอำนาจยังขืนดึงดันนำเอาความรู้สึกส่วนตัวมาเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง ใช้คำว่า “ใบรับรองความเป็นครู” แทน “ใบประกอบวิชาชีพครู” ดังที่มีความพยายามอยู่ในขณะนี้ บรรดาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ รู้สึกเศร้าใจ สลดหดหู่ใจ เสียขวัญกำลังใจ ขาดความศรัทธาเชื่อมั่นต่อผู้นำทางการศึกษาของประเทศ แน่นอนว่า ประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาภายในที่มองเห็นอยู่ก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเต็มพลังศักยภาพ อันเป็นเพราะสารบั่นทอนกำลังใจในร่างกายไหลรินอย่างมิขาดสาย แม้กายภายนอกจะปฏิบัติหน้าที่รับคำสั่ง ทำตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาอย่างเป็นปกติก็ตาม ลองใช้สามัญสำนึกดูว่า ประเทศชาติจะเกิดความเสียหายจากการที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาขาดความศรัทธาและเชื่อมั่นในผู้นำทางการศึกษาเพียงใด

อีกทั้ง การใช้คำว่า “ใบรับรองความเป็นครู” ยังขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา ๒๕๘จ. ด้านการศึกษา ซึ่งใช้คำว่า “(๓) ให้มีกลไกและระบบการผลิต  คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู  มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง  ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับ ความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน  รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู” ฉะนั้น คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพครู” ควรจะได้ “ใบประกอบวิชาชีพครู” มิใช่ “ใบรับรองความเป็นครู” ซึ่งจะเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไป

ความภาคภูมิใจใน “ใบประกอบวิชาชีพครู”

แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร  โรงเรียนจะมีดาวเทียม อินเตอร์เน็ต แทปเล็ต สื่อออนไลน์ทั้งหลายที่สามารถแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้หลากหลายมากขึ้น แต่ไม่อาจทดแทนครูได้  “ความเป็นคน” ของผู้เรียนต้องสร้างด้วยมือของครู ศักดิ์ศรีความเป็นคนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นไร ศักดิ์ศรีความเป็นครู ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายหมายฉบับเช่นกัน ใบประกอบวิชาชีพครู คือตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงศักดิ์ศรีตัวตนความเป็นครูที่ไม่อาจทดแทนด้วยคำว่า “ใบรับรองความเป็นครู” ได้

เอกสารอ้างอิง

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชดำรัส “ไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ แทนครูได้”

คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา, สำนักงาน.(๒๕๖๐). หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนา

ข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน. หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.

ที่ ศธ ๐๒๐๖.๗/ว ๒๒ ลงวันที่ กรกฎาคม ๒๕๖๐. เอกสารเผยแพร่, มปป. หน้า

เลขาธิการสภาการศึกษา, สำนักงาน. แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙. กระทรวงศึกษาธิการ.

ราชกิจจานุเบกษา. (๒๕๔๖). พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖.

เล่ม ๑๒๐/ตอน๕๒ ก/

. (๒๕๖๐). พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ .. ๒๕๖๐. เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๗๙

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

. (๒๕๖๐). พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ .. ๒๕๖๐ เล่ม ๑๓๔

ตอนที่ ๗๙ , ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

ครูอัพเดตดอทคอม ขอขอบคุณขบความจาก ผู้เขียน

ดร.รัชศักดิ์  แก้วมาลา  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคำไฮน้อย ตำบลหนองบก อำเภอเหล่าเสือโก้ก

ำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต ๑โทร. 062-7945366

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments