วันอังคาร, ตุลาคม 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกข่าวการศึกษาsar การจัดส่ง รายงานผลการประเมินตนเอง ของสถานศึกษา ( SAR ) ประจำปีการศึกษา 2563 ผ่านระบบ e-SAR

sar การจัดส่ง รายงานผลการประเมินตนเอง ของสถานศึกษา ( SAR ) ประจำปีการศึกษา 2563 ผ่านระบบ e-SAR

sar การจัดส่ง รายงานผลการประเมินตนเอง ของสถานศึกษา ( SAR ) ประจำปีการศึกษา 2563 ผ่านระบบ e-SAR

“SAR ประจำปีการศึกษา 2563”

การจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ประจำปีการศึกษา 2563 ผ่านระบบ e-SAR (#หนังสือ สพฐ.ที่ ศธ.04004/ ว 625 ลงวันที่ 14 พ.ค.64)

การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self – Assessment Report : SAR)เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ที่เป็นการนำข้อมูลผลการประเมินตามมาตรฐานของสถานศึกษาจากการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล มาจัดทำเป็นรายงานผลการประเมินตนเอง เพื่อสะท้อนภาพความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมาภายใต้บริบทของสถานศึกษา ตลอดจนนำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) เสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเตรียมการรับการประเมินคุณภาพภายนอกต่อไป

เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 และ สทศ.สพฐ. มีฐานข้อมูลการรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ การดำเนินงานของสถานศึกษา และสามารถนำผลมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการดังนี้
1. ส่งผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา โดยระบุระดับคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาทั้งภาพรวมและรายมาตรฐาน โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มทาง QR code หรือ ทาง shorturl.asia/w4WcK และแจ้งข้อมูลมายัง สทศ. สพฐ. ทาง e-mail : [email protected] ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564
2. ส่งรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ประจำปีการศึกษา 2563 ของสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด มายัง สทศ.สพฐ.โดยผ่านระบบจัดเก็บรายงานการประเมินตนเอง (e-SAR) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) เพื่อเข้าใช้งานในระบบจัดเก็บรายงานการประเมินตนเอง (e-SAR) ที่ได้แจ้งไปแล้ว

แนวทางการจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self-Assessment Report: SAR) ประจำปีการศึกษา 2563

1.สถานศึกษาสามารถกำหนดรูปแบบรายงานผลประเมินตนเองของสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสมและตามบริบทของสถานศึกษา โดยนำเสนอข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การนำเสนอข้อมูลไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ควรมีความกระชับ จับประเด็นสำคัญ ๆ มานำเสนอ และมีที่มาของหลักฐาน ข้อมูล ร่องรอยที่สะท้อนคุณภาพอย่างชัดเจน การจัดทำต้องไม่ยุ่งยากและไม่เป็นภาระให้กับสถานศึกษา เนื้อหาที่นำเสนอมุ่งตอบคำถาม 3 ข้อ ดังนี้
1.1 มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษามีระดับคุณภาพใด
1.2 ข้อมูล หลักฐาน ร่องรอยและเอกสารเชิงประจักษ์สนับสนุนมีอะไรบ้าง
1.3 แผนงาน โครงการ แนวทางพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม (อย่างน้อย 1 ระดับ) หรือคงสภาพอย่างไร

2.โครงสร้างของรายงานผลการประเมินตนเองประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ 1) บทสรุปสำหรับผู้บริหาร และ 2) เนื้อหาสาระของการประเมินตนเอง ที่ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ (1) ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา และ (2) ผลการประเมินตนเอง

3.เนื้อหาที่นำเสนอในรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา ทั้งบทสรุปผู้บริหาร และเนื้อหาสาระของการประเมินตนเอง มีแนวทางการนำเสนอข้อมูล ดังนี้
3.1 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร เป็นการสรุปสาระสำคัญที่ได้มาจากสาระที่นำเสนอในส่วนที่เป็นเนื้อหาการประเมินตนเอง มีการสะท้อนข้อมูลคำถาม 3 ข้อข้างต้น ควรนำเสนอไม่เกิน 2 หน้า โดยบทสรุปการประเมินตนเองจะมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อ 1) กระชับ รวบรัด จับประเด็นสำคัญ และมีที่มาของหลักฐานที่ชัดเจน 2) เป็นการประเมินไม่ใช่แค่บรรยาย ระบุคุณภาพผลการประเมินที่ได้ 3) สื่อให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของสิ่งโรงเรียนที่ได้ลงมือทำเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านต่าง ๆ (เช่น ด้านผู้เรียน ด้านผู้สอน ด้านบริหาร ด้านปัจจัยพื้นฐาน เป็นต้น)
3.2 ผลการประเมินตนเอง มีเนื้อหาดังนี้
3.2.1 ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา ให้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษาตามความเหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษา ประมาณ 3-5 หน้า ใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย การนำเสนออาจเป็นความเรียง ตาราง แผนภูมิ รูปภาพ หรือกราฟ เช่น ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลผู้บริหาร ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลครูและบุคลากร ข้อมูลงบประมาณ ข้อมูลสภาพชุมชนโดยรวม เป็นต้น
3.2.2 การตอบคำถามข้อ 1 มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษามีระดับคุณภาพใด ให้ระบุระดับคุณภาพของสถานศึกษา นำเสนอทั้งรายด้าน จำนวน 3 มาตรฐาน และภาพรวมของสถานศึกษา ซึ่งระดับคุณภาพจะประกอบไปด้วย 5 ระดับ คือ ระดับกำลังพัฒนา ระดับปานกลาง ระดับดี ระดับดีเลิศ และระดับยอดเยี่ยม
3.2.3 การตอบคำถามข้อ 2 ข้อมูล หลักฐาน ร่องรอยและเอกสารเชิงประจักษ์สนับสนุนมีอะไรบ้าง ให้เน้นนำเสนอข้อมูล หลักฐานการประเมินเชิงประจักษ์ที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามสภาพจริงของสถานศึกษา โดยเลือกใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสมและสะท้อนคุณภาพการดำเนินงานตามมาตรฐานของสถานศึกษาได้อย่างชัดเจน ข้อมูลต้องมีความน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบผลการประเมินได้ตามสภาพบริบทของสถานศึกษานั้นๆ โดยข้อมูลที่นำเสนอในการตอบคำถามข้อ 2 นี้ ต้องครอบคลุมมาตรฐานของสถานศึกษาแต่ละด้านที่ได้กำหนดไว้อาจจำแนกเป็นรายด้าน เช่น
(1) ด้านคุณภาพของผู้เรียน ข้อมูลที่นำเสนอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน สะท้อนถึงคุณภาพและการผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET, NT) ผลการประเมินความสามารถด้านการอ่าน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ความสามารถของผู้เรียนในการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศ จำนวนหรือร้อยละของผู้เรียนที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรในระดับดีขึ้นไป จำนวนและร้อยละของผู้เรียนมีสุขภาพที่ดี (สะท้อนคุณภาพและความสามารถของผู้เรียนที่เกิดจากกระบวนการบริหารจัดการและจัดการเรียนการสอน) เป็นต้น
(2) ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ ข้อมูลที่นำเสนอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน เช่น ผลการประเมินสมรรถนะของผู้บริหารสถานศึกษา ข้อมูลการบริหารจัดการของสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลจำนวนผู้ปกครองนักเรียนที่รับทราบข่าวสารจากสถานศึกษา ระดับความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานของสถานศึกษา ข้อมูลการมีส่วนร่วมทางการศึกษาของชุมชนและสังคม เป็นต้น
(3) ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ข้อมูลที่นำเสนอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน เช่น จำนวนและร้อยละของผู้สอนมีการประเมินสมรรถนะในระดับดีขึ้นไป ข้อมูลจำนวนผู้สอนที่สอนตรงตามวุฒิการศึกษาและมีภาระงานที่เหมาะสม ข้อมูลผู้สอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในระดับดีขึ้นไป ข้อมูลผู้สอนที่มีความสามารถและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการจัดการเรียนรู้ในระดับดีขึ้นไป ข้อมูลความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ข้อมูลผู้สอนที่ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย คุณภาพของสถานศึกษาในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ทำให้ผู้เรียนค้นพบความถนัด รู้จักอาชีพ และแนวทางการศึกษาต่อ เป็นต้น
3.2.4 การตอบคำถามข้อ 3 แผนงาน โครงการ แนวทางพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม (อย่างน้อย 1 ระดับ) หรือคงสภาพ อย่างไร โดยสถานศึกษานำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพ เพื่อยกระดับให้สูงขึ้น สถานศึกษาอาจนำเสนอแผนงาน/โครงการที่จะพัฒนาออกเป็นด้านต่าง ๆ ตามความสามารถที่จะดำเนินการได้ เช่น แผนงาน/โครงการพัฒนาด้านคุณภาพผู้เรียน ด้านการพัฒนาคุณภาพครูในเรื่องต่าง ๆ ด้านการพัฒนาอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม ด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการของสถานศึกษา เป็นต้น
เนื้อหาการประเมินตนเองในส่วนที่สองนี้ควรมีความยาวไม่เกิน 30 หน้า ให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่ง นอกจากนี้ สถานศึกษาสามารถนำเสนอข้อมูลอื่น ๆ มาเสนอในภาคผนวกได้เช่นกัน แต่ข้อมูลที่นำเสนอในภาคผนวกจะต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้การจัดทำเอกสารมีจำนวนมากและเป็นภาระในการดำเนินการ (ไม่ควรนำเสนอข้อมูลเหล่านี้มาไว้ในภาคผนวก เช่น ภาพถ่ายกิจกรรม การแสดง ภาพนิทรรศการ ภาพโล่รางวัล เกียรติบัตร เพราะมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ในรูปแบบของสารสนเทศอื่นๆ อยู่แล้ว)

4.สถานศึกษาควรจัดส่งรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา ปีการศึกษา 2563 ให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดก่อนวันเปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 เพื่อหน่วยงานต้นสังกัดจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผน พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และใช้เป็นข้อมูลสำหรับรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

ครูอัพเดตดอทคอม ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิษณุ ผอ.สทศ.

https://bet.obec.go.th/New2020/

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments