การอ่านและการเขียนภาษาไทยเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้ ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยทุกคน กล่าวคือ คนที่มีทักษะในด้านการอ่านและการเขียนอยู่ในเกณฑ์ดีก็จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆได้ดี และสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
จากความสำคัญและความจำเป็นของการอ่านและการเขียนดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้มีการรณรงค์ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยให้อ่านออกเขียนได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ระดับชั้นเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ในระดับชั้นที่เรียนและในระดับชั้นที่สูงขึ้นไปได้เป็นอย่างดี ตลอดจนใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบได้พยายามส่งเสริมและพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี จากรายงานผลการประเมินการอ่านการเขียนของนักเรียนในระดับประเทศ และรายงานผลการประเมินการอ่านการเขียนของนักเรียนในระดับเขตพื้นที่การศึกษา พบว่า ยังมีนักเรียน ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ระดับชั้นเป็นจำนวนมาก
จากรายงานดังกล่าวคงเป็นประเด็นที่น่าสงสัยว่าทำไมนักเรียนที่ยังอ่านไม่ออกเขียนได้จึงยังมีจำนวนมาก ทั้งๆ ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกระดับได้พยายามกระตุ้นและส่งเสริมมาตลอดเป็นระเวลาหลายสิบปีแล้ว ก็ตาม เป็นไปได้ว่าการที่เด็กเหล่านั้นยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อาจเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การใช้สื่อการสอน ตลอดจนการจัดสภาพห้องเรียนและบรรยากาศการเรียนรู้ของครูผู้สอนยังไม่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง และวิธีการเรียนรู้ตามวัยของผู้เรียน จึงเป็นสาเหตุให้นักเรียนเหล่านั้นไม่บรรลุผลในการเรียนรู้ จึงส่งผลให้พวกเขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามวัยและระดับชั้น
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต ๔ ร่วมกับชมรมครูภาษาไทย สพป.ขอนแก่น เขต ๔ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะภาษาไทยด้วยบันได ๕ ขั้น (ห้องเรียนภาษาพาเพลิน) ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการย้อนยุค โดยครูจัดการเรียนการสอนไปตามลำดับเนื้อหาอย่างครบถ้วน โดยใช้กิจกรรมแบบบันไดทักษะ ๕ ขั้น คือ
ขั้นที่หนึ่ง หาเรื่องให้สนุก
ขั้นที่สอง แจกลูกสะกดคำ
ขั้นที่สาม อ่านย้ำนำวิถี
ขั้นที่สี่ คัดลายมือให้ถูกวิธ
ขั้นที่ห้า เขียนตามคำบอกทุกวัน
กล่าวคือ ขั้นที่หนึ่งครูผู้สอนอาจใช้กิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนด้วยเพลง, เกม , นิทาน , หรือ ของจริง ฯลฯ เพื่อสร้างบรรยากาศ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความพร้อมก่อนเข้าสู่บทเรียน ขั้นที่สอง เน้นให้ครูอ่านออกเสียงแจกลูกผันเสียงนำนักเรียน และจากนั้นในขั้นที่สาม ให้นักเรียนเปล่งเสียงอ่านตาม ทั้งคำเดี่ยวและ คำประสม จากนั้น ในขั้นที่สี่ ฝึกคัดลายมือให้สวยงาม และถูกต้องตามรูปแบบตัวอักษรที่กำหนด จากคำที่ฝึกในขั้นที่หนึ่งและขั้นที่สอง ส่วนในขั้นสุดท้ายคือ ขั้นที่ห้าให้ฝึกเขียนคำ เขียนคำตามคำบอก เขียนคัดลายมือ และเขียนกลุ่มคำ ตามแบบฝึกในหนังสือ อ่านได้แล้วฝึกเขียนตามคำบอก และเขียนคัดลายมือตามลำดับไปทีละบททีละเดือน จากง่ายไปหายาก
ในการนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๔ โดยกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา ร่วมกับชมรมครูภาษาไทย สพป.ขอนแก่น ๔ ได้ร่วมประชุม วางแผน และกำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบบันได ๕ ขั้น รวมทั้งรวบรวม และเรียบเรียง สื่อ /แบบฝึก เพื่อให้ครูใช้ประกอบการสอนตามรูปแบบ ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ครูผู้สอนสามารถนำสื่อที่จัดทำให้นี้นำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม
ขอขอบคุณคณะทำงานทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทำงานชมรมครูภาษาไทย สพป.ขอนแก่น เขต ๔ ที่ได้ร่วมออกแบบและยกร่างแนวทางการจัดกิจกรรมห้องเรียนภาษาพาเพลิน ตลอดจนจัดทำสื่อ/แบบฝึก เพื่อพัฒนาการอ่านการเขียนของนักเรียนในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารูปแบบการพัฒนาทักษะภาษาไทยด้วยบันได ๕ ขั้น ตลอดจนสื่อ/แบบฝึก ที่จัดทำให้นี้ จะทำให้ครู และโรงเรียนเกิดแนวทาง
ในการที่จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถอ่านออก เขียนได้ ตามวัยและช่วงชั้น ได้ในลำดับต่อไป
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๔
แบบฝึกการสอนภาษาไทยด้วยบันได 5ขั้น ขอนแก่นโมเดล โรงเรียนอ่านออก 100 เปอร์เซ็นต์
ลิ้งค์1.https://drive.google.com/file/d/0B-aGwkRrAzSgNlUzeFFISDFwLW8/view?usp=sharing
ลิ้งค์2.https://docs.google.com/uc?id=0B-aGwkRrAzSgNlUzeFFISDFwLW8&export=download