ตามมติที่ประชุม ก.ค.ศ. เมื่อ 25 มกราคม 2564 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามข้อตกลงพัฒนางาน (PA) ใหม่ ที่เลขาธิการ ก.ค.ศ. รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ได้แจ้งว่า “จะประกาศใช้ ว.PA ในเดือนพฤษภาคม 2564 และมีเวลากำหนดยื่น PA ต่อผู้อำนวยการโรงเรียน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564” และในเวลาต่อมามีแผ่นภาพเผยแพร่ โดย เพจ สำนักงาน ก.ค.ศ. ดังนี้
ภาพประกอบ 1 รอบปีงบประมาณในการพัฒนางานตามข้อตกลงแบบ PA (ที่มา : INFO สนง.ก.ค.ศ. https://otepc.go.th/th/content_page/item/3265-pa.html)
คำถามสำคัญ คือ เมื่อ ว.PA จะประกาศใช้ พ.ค.2564 จะทำให้ผู้ที่เกิดสิทธิ์ ว.17, ว.21 มาก่อน แต่ยังไม่ครบกำหนดยื่นคำขอ จะต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ กับ ว.PA-64 และนับไปอีก 4 ปีหรือไม่
ผู้เขียนพยายามประมวลข้อมูลความรู้ทั้งในแง่ข้อกฎหมาย และหลักวิชาการ เพื่ออธิบายความจากฐานข้อมูลของก.ค.ศ.ที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มพรมแดนความรู้ความเข้าใจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ความชัดเจนใดๆ จำเป็นต้องรอคู่มือคำอธิบายประกอบหลักเกณฑ์ฯ ข้างต้นจากก.ค.ศ.ต่อไป
ภาพประกอบ 2 แสดงระยะเวลาสิ้นสุดของหลักเกณฑ์เดิมต่อเนื่องหลักเกณฑ์ใหม่
จากแผนภาพเปรียบเทียบนี้ แปลความว่า 1) การประเมินเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน 2) การประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ตามมาตรา 55 หรือ 3) การประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ ว.17 หรือ ว.21 ก็จะปรับเข้าสู่หลักเกณฑ์ใหม่ ภายใน 1 ตุลาคม 2564 แต่สำหรับผู้ที่เกิดสิทธิ์วิทยฐานะตามเกณฑ์ ว.17 หรือ ว.21 มาก่อนประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ มีเวลา 1 ปี สามารถยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์เดิมได้ ภายใน 30 กันยายน 2565 หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์เดิม แต่หากอายุการครองวิทยฐานะเดิมครบไม่ทันภายใน 30 กันยายน 2565 จำเป็นต้องเข้าสู่หลักเกณฑ์ใหม่ต่อเนื่องไป ตามคำกล่าวของเลขาธิการ ก.ค.ศ. ว่า “สำหรับสายผู้สอน ที่ใช้เกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ (ว 21) การนับระยะเวลาจะไม่เสียไป จะสามารถนับต่อได้และจะมีผลดี คือเมื่อครบเวลา 4 ปี จะมีสิทธิในการยื่นวิทยฐานะ” (ที่มา:เลขา.ก.ค.ศ.) ดังตัวอย่างแผนภาพนี้
ภาพประกอบ 3 แสดงการนับเวลาต่อเนื่องหลักเกณฑ์เดิมกับหลักเกณฑ์ใหม่ (ที่มา : INFO สนง.ก.ค.ศ. https://otepc.go.th/th/content_page/item/3265-pa.html)
กรณีตัวอย่างที่ 1 บรรจุ 1 เมษายน 2558 จะครบ 6 ปี (กรณีจบปริญญาโท) ในวันที่ 1 เมษายน 2564 สามารถยื่นขอตามเกณฑ์ ว.17 ได้ หากจบปริญญาตรี จะครบเมื่อ 1 เมษายน 2566 (8 ปี) ซึ่งไม่ทัน แต่กรณีที่ 1 นี้ สามารถเลือกช่องทางการยื่นคำขอและเลื่อนตามหลักเกณฑ์ ว.21 แบบเปลี่ยนผ่าน ได้ เนื่องจากได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งครู (คศ.1) เมื่อ 1 เมษายน 2560 ก่อนประกาศใช้หลักเกณฑ์ ว.21 ใน 5 กรกฎาคม 2560 ถ้าหากเก็บสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ตั้งแต่ปี 2560-2561, 2561-2562, 2562-2563, 2563-2564, 2564-2565 จะครบ 5 ปี ในวันที่ 1 เมษายน 2565 จะยื่นแบบ ว.21 ก่อน 30 กันยายน 2565 ได้ทัน
กรณีตัวอย่างที่ 2 บรรจุ 1 เมษายน 2559 จะครบ 6 ปี (กรณีจบปริญญาโท) ในวันที่ 1 เมษายน 2565 สามารถยื่นขอตามเกณฑ์ ว.17 ได้ทัน หากจบปริญญาตรี ยื่นเกณฑ์ ว.17 ไม่ทัน และเนื่องจากได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งครู (คศ.1) 1 เมษายน 2561 ถ้าหากเก็บสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ตามเกณฑ์ ว.21 ตั้งแต่ปี 2561-2562, 2562-2563, 2563-2564, 2564-2565, 2565-2566 จะครบ 5 ปี ในวันที่ 1 เมษายน 2566 ก็จะยื่นแบบ ว.21 ก่อน 30 กันยายน 2565 ไม่ทัน
กรณีตัวอย่างที่ 3 บรรจุ 1 เมษายน 2560 จะครบ 6 ปี (กรณีจบปริญญาโท) ในวันที่ 1 เมษายน 2566 ไม่สามารถยื่นขอตามเกณฑ์ ว.17 ได้ และเนื่องจากได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งครู (คศ.1) 1 เมษายน 2562 ถ้าหากเก็บสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ตามเกณฑ์ ว.21 ตั้งแต่ปี 2562-2563, 2563-2564, 2564-2565, 2565-2566 จะครบ 5 ปี ในวันที่ 1 เมษายน 2567 ก็ยื่นแบบ ว.21 ก่อน 30 กันยายน 2565 ไม่ทัน
ดังแผนภาพ
ภาพประกอบ 4 แสดงการนับเวลาหลักเกณฑ์ ว.17
เมื่อไม่สามารถยื่นตามเกณฑ์เดิมทั้งแบบ ว.17 หรือ ว.21 ได้ทันในวันที่ 30 กันยายน 2565 เลขาธิการ ก.ค.ศ. มีคำอธิบายว่า“สำหรับสายผู้สอน ที่ใช้เกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ (ว 21) การนับระยะเวลาจะไม่เสียไป จะสามารถนับต่อได้และจะมีผลดี คือเมื่อครบเวลา 4 ปี จะมีสิทธิในการยื่นวิทยฐานะ (ที่มา:เลขา.ก.ค.ศ.)”
ภาพประกอบ 5 ตารางการนับเวลาต่อเนื่องหลักเกณฑ์ ว.17 กับหลักเกณฑ์ใหม่
จากภาพในตาราง กรณีที่อายุไม่ครบ 6 ปี หรือ 8 ปี ตามเกณฑ์ ว.17 ก็เริ่มเข้าสู่เกณฑ์ ว.PA ในรอบปีที่ 1 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565 และหรือ ปีที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2566 โดยเป็นการนำผลงานเกณฑ์ ว.17 เดิม จำนวน 2 ปีการศึกษา มานับต่อเนื่องกับผลการประเมิน PA ได้ จำนวน 1 ปี หรือ 2 ปี ขึ้นกับปีที่บรรจุ ดังตารางตัวอย่าง มีผลดีคือ ลดระยะเวลากว่าหลักเกณฑ์เดิมด้วย
สำหรับผู้ที่เกิดสิทธิ์ ว.21 ในช่วงก่อน 30 กันยายน 2560 ซึ่งเริ่มประกาศใช้ 5 กรกฎาคม 2560 ถ้าหากเก็บสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ตั้งแต่ปี 2560-2561, 2561-2562, 2562-2563, 2563-2564, 2564-2565 จะครบ 5 ปี ก่อน 30 กันยายน 2565 ก็สามารถยื่นแบบ ว.21 ได้ ดังแผนภาพ
แต่คุณสมบัติ ข้อ 4 จำนวนชั่วโมงการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ใน ว.22/60 ไม่สามารถยืดระยะเวลาได้ถึง 30 กันยายน 2565 ด้วยเหตุว่า หลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรองในปีงบประมาณ 2562 สามารถจัดอบรมได้ ระหว่างวันที่ 13 สิงหาคม 2562-13 สิงหาคม 2564 เท่านั้น ดังภาพ
ภาพประกอบ 7 หนังสือระบุระยะเวลารับรองหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนาอนุมัติ
ดังนั้น หากครูเก็บสะสมชั่วโมงอบรมจากหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรองในวันสุดท้าย คือ 13 สิงหาคม 2564 ก็จะนับไปถึง 13 สิงหาคม 2565 เท่านั้น เพราะวิธีการตรวจนับคุณสมบัติข้อ 4 กำหนดให้นับย้อนหลังจากวันยื่นคำขอ แปลว่า ปีที่ 5 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2565-12 สิงหาคม 2564, ปีที่ 4 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2564-12 สิงหาคม 2563, ปีที่ 3 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2563-12 สิงหาคม 2562, ปีที่ 2 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2562-12 สิงหาคม 2561, ปีที่ 1 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2561-12 สิงหาคม 2560, ฉะนั้น วันสุดท้ายของการยื่นคำขอแบบ ว.21 จึงเป็นวันที่ 13 สิงหาคม 2565 มิใช่ วันที่ 30 กันยายน 2565 ดังที่ ก.ค.ศ. สื่อสารให้ครูเข้าใจ
ภาพประกอบ 8 ตารางการนับเวลาต่อเนื่องหลักเกณฑ์ ว.21 กับหลักเกณฑ์ใหม่
จากแผนภาพนี้ แสดงว่าผู้ที่จะยื่นคำขอแบบว.21 ได้ คือครองวิทยฐานะ ในปี 2560 และจะต้องสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ในปีการศึกษา 2560 เป็นต้นมา นอกเหนือจากนั้น จะเข้าเกณฑ์กรณีเงื่อนไข อายุเกณฑ์เดิม + อายุเกณฑ์ใหม่
หลักเกณฑ์ใหม่ กำหนให้ผู้ที่จะขอมีและเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นได้ จะต้องมีผลการประเมินตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ทุกรอบปีงบประมาณ (1 ตุลาคม – 30 กันยายน) จำนวน 4 รอบ ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ (ร้อยละ 70 ขึ้นไป) จึงจะมีคุณสมบัติในการยื่นคำขอฯ ได้
ในกรณีที่ได้สะสมเวลามาระยะหนึ่งแต่ไม่ครบอายุตามเกณฑ์เดิม ทั้งกรณี ว.17 หรือ ว.21 ก็จะนับต่อเนื่องกับหลักเกณฑ์ใหม่ (วPA) ร่วมด้วย ดังแผนภาพตารางข้างต้น ส่วนรายละเอียดแนวปฏิบัติจะปรากฎตามคู่มือการประเมินหลักเกณฑ์ใหม่ ที่ ก.ค.ศ. จะออกมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป เพียงแต่ประเด็นที่วิเคราะห์และนำเสนอนี้ เป็นผลการศึกษาจากแผนภาพตัวอย่างของ ก.ค.ศ. เท่าที่เผยแพร่ออกมาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สมมติฐานเบื้องต้นในการออกหลักเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม ผู้มีอำนาจในการออกหลักเกณฑ์ก็จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านพอสมควร และจะต้องแก้ไขข้อบกพร่องของหลักเกณฑ์เดิมๆ ให้ได้ การจะบรรลุเจตนารมณ์ของหลักเกณฑ์ใดๆ มิใช่ขึ้นอยู่กับว่าหลักเกณฑ์นั้นๆ มีความเป็นธรรม เหมาะสมเพียงใด แต่การขับเคลื่อนการนำหลักเกณฑ์สู่การปฏิบัติของหน่วยงานทางการบริหาร ก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อย ถึงเวลานี้ ประเทศไทยผ่านการใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเลื่อนวิทยฐานะของครูมายาวนาน ก็เชื่อได้ว่า ผู้มีอำนาจได้คำนึงถึงบทเรียนต่างๆ ที่ผ่านมาอย่างครบถ้วน
หลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ (วPA) เป็นไปตามหลักปฏิบัติราชการที่ดีทางปกครองหรือไม่
เมื่อ ก.ค.ศ. เป็นองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคล ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งได้ให้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจไว้ การจะกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม จะต้องคำนึงถึงหลักปฏิบัติราชการที่ดีทางปกครอง ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 “มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้
“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง หรือ กฎ และรวมถึงการดำเนินการใดๆในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้
“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวงข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ”
แปลความว่า หลักเกณฑ์และวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) พ.ศ. 2564 ที่ ก.ค.ศ. กำหนดนี้ มีสภาพเป็น “กฎ” ตามกฎหมายปกครองในมาตรา 5 ซึ่งทำให้การบังคับใช้ตามหลักเกณฑ์นี้ เป็นการเตรียมการทางปกครอง เพื่อจัดให้มี “คำสั่งทางปกครอง” นั่นเอง โดยมีสภาพบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามหลักปฏิบัติราชการที่ดีดังความที่บัญญัติในพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 “ (1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของ รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือ การกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ”
แปลความง่ายๆว่า หลักเกณฑ์ ว.PA นี้ จะต้องไม่ไปจำกัดสิทธิ์ เปลี่ยนแปลงสิทธิ์ หรือทำให้เสียสิทธิ์ที่มีอยู่เดิมได้ หากผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้น การกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีข้อโต้แย้ง ตามหลักเกณฑ์ฯ นี้ สามารถฟ้องร้องเป็นคดีปกครอง ตามมาตรา 42 ได้
อีกทั้ง ในการออกกฎหมายใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องคำนึงถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 ดังความบางส่วนว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น…. ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟัง ความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน….”
แม้ว่า บทบัญญัติในมาตรา 77 นี้ จะใช้กับกรณีออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ก็ตาม แต่หลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.ค.ศ.กำหนด ก็มีสภาพเป็น “กฎ” หรือกฎหมายภายในที่จะต้องคำนึงถึงเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สำนักงาน. (2564). INFO การประเมินวิทยฐานะครู ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเกณฑ์เก่าสู่ระบบ PA.https://otepc.go.th/th/content_page/item/3265-pa.html
ประวิต เอราวรรณ์, รศ.ดร. วิทยฐานะครูตามหลักเกณฑ์ใหม่. คลิปบรรยาย เผยแพร่ทางโซเซียลมีเดีย.ราชกิจจานุเบกษา. (2547). พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547.เล่ม 121/ตอนพิเศษ 79 ก/หน้า 22/23/23 ธันวาคม 2547.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113/ตอนที่ 60 ก/หน้า 1/14 พฤศจิกายน 2539. “พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539”
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116/ตอนที่ 94 ก/หน้า 1/10 ตุลาคม 2542. พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542.
ประวัติ ผู้เขียนบทความ – ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา
ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรี (การประถม) มข., ปริญญาตรี (นิติศาสตร์), ปริญญาโท (การวิจัยและประเมินผลการศึกษา), ปริญญาเอก (ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค)
ประสบการณ์วิทยากร ด้านวิทยฐานะ 2538-40 (อ.2/7), 2540-47 (อ.3/8) 2547-50 (คศ.3เชิงประจักษ์), 2550-53 (คศ.3 ว.17), 2554-55 (คศ.3-4 ก่อนแต่งตั้ง) 2556-57 (เยียวยาคศ.4/ว.17), 2558 (ว.7/58 ว.PA), 2560-2563 (ว.21/ว.23 ทั่วประเทศ) 2564 -ว.PA64 (ทั่วประเทศ)
ประธานหลักสูตรอบรมครูที่สถาบันคุรุพัฒนาอนุมัติ 73 หลักสูตร ปี 2561-2564 ทั้งพบปะ + ออนไลน์ หน่วยพัฒนา หจก.เพื่อครู
ครูอัพเดตดอทคอม ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลและภาพ เมื่อ ว.PA จะประกาศใช้ พ.ค.2564 จะทำให้ผู้ที่เกิดสิทธิ์ ว.17, ว.21 มาก่อน เสียสิทธิ์หรือไม่ อย่างไร จาก ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา เป็นอย่างสูงค่ะ