เมื่อ “ครู” ถูกร้องเรียนว่าขาดจริยธรรม ทําให้นักเรียนเกือบครึ่งห้อง … สอบตก
ครู คือ แม่พิมพ์ของชาติ คํากล่าวนี้ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหนก็ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ เพราะครูเป็นผู้มีบทบาทสําคัญในการสั่งสอนและถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ส่งเสริมการเรียนรู้ของศิษย์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษา
ข้าราชการครูทุกคนต้องประพฤติและปฏิบัติตนให้อยู่ภายในกรอบของวินัย ทั้งที่เป็นข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ที่บัญญัติไว้ โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสมอภาค และเที่ยงธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการ ปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณ วิชาชีพอย่างเคร่งครัด (มาตรา 84 วรรคหนึ่ง) ตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียน ไม่ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (มาตรา 87 วรรคหนึ่ง) เป็นต้น และหาก ข้าราชการครูผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทางวินัยข้อหนึ่งข้อใด ย่อมถือได้ว่ากระทําผิดวินัย
ทั้งนี้ … พฤติกรรมหรือการทําหน้าที่สอนหนังสือของข้าราชการครูในลักษณะเช่นใด ที่จะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามหรือเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทางวินัยอันเป็นการกระทําผิดวินัย “อย่างร้ายแรงหรืออย่างไม่ร้ายแรง” นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี
คดีปกครองที่นํามาเล่าเป็นอุทาหรณ์ในคอลัมน์รายงานพิเศษฉบับนี้ เป็นข้อพิพาทที่เกิดจาก การทําหน้าที่สอนหนังสือและประเมินผลการเรียนของข้าราชการครูซึ่งไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่สถานศึกษากําหนด ปล่อยปละละเลยให้นักเรียนมีผลการเรียนต่ํากว่าความคาดหวัง ซึ่งไม่เป็นไปตาม “คู่มือแนะนํานักเรียนเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาของงานทะเบียน วัดผล” จนกระทั่งถูกผู้ปกครองนักเรียนร้องเรียน ทําให้โรงเรียนได้รับความเสียหาย
คดีนี้ แม้จะเป็นคดีเก่า แต่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักปฏิบัติราชการไว้อย่างน่าสนใจ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาและส่วนราชการอื่นในการที่จะนําไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ราชการที่ดีและเป็นอุทาหรณ์สําหรับข้าราชการครูผู้มีหน้าที่สอนหนังสือจะได้ตระหนักต่อการทําหน้าที่ของตน
มูลเหตุของคดีเกิดจากผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบ การประเมินผลการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาห้องหนึ่ง ในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2548 เนื่องจากครูสมชายซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนวิชาเสริมทักษะคณิตวิทย์ของนักเรียน ชั้นดังกล่าวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ครู ทําให้นักเรียนมีผลการเรียนสอบได้ระดับคะแนน เป็น 0 จํานวน 21 คน จากนักเรียนทั้งหมด 47 คน
ผู้อํานวยการโรงเรียนจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว เมื่อคณะกรรมการฯ ดําเนินการแล้วเห็นว่า กรณีมีมูลว่าครูสมชายกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้อํานวยการโรงเรียนจึงแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดําเนินการแล้ว เห็นว่า การกระทําของครูสมชายเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง สมควรลงโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน และเสนอความเห็นให้ย้ายครูสมชายไปสอนในโรงเรียนอื่น แต่ผู้อํานวยการโรงเรียนเห็นว่า เมื่อการกระทําดังกล่าว เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงและเป็นความผิดครั้งแรก จึงให้ลดโทษเป็นให้ว่ากล่าวตักเตือน (ทําทัณฑ์บน เป็นหนังสือ) และต่อมาครูสมชายได้ขอย้ายไปสอนที่โรงเรียนอื่น ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา เดียวกัน
แต่เมื่อมีการรายงานการดําเนินการทางวินัยดังกล่าวไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการ จังหวัดฯ คณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่า แม้จะเป็นการกระทําผิดวินัยไม่ร้ายแรง แต่มีมติให้ลงโทษตัดเงินเดือน ครูสมชาย 5% เป็นเวลา 3 เดือน ผู้อํานวยการโรงเรียนแห่งใหม่ในฐานะผู้บังคับบัญชาจึงมีคําสั่งลงโทษ ตัดเงินเดือนครูสมชายตามมติดังกล่าว
ครูสมชายไม่พอใจคําสั่งลงโทษตัดเงินเดือน จึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แต่ผลการพิจารณาอุทธรณ์ “มีมติให้ยกอุทธรณ์” หลังจากนั้นครูสมชาย จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคําพิพากษาเพิกถอนคําสั่งลงโทษทางวินัยและเรียกค่าเสียหาย
คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการฟ้องความชอบด้วยกฎหมายในการดําเนินการทางวินัย ครูสมชาย (ผู้ฟ้องคดี) ซึ่งจากคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น มีประเด็นพิพาทจากการโต้แย้งของคู่กรณี ที่ศาลปกครองได้เข้าไปตรวจสอบ ดังนี้
- การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
- การแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาชอบด้วย กฎหมายหรือไม่
- การสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนเป็นการดําเนินการ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
- การรายงานผลการสอบสวนและการเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน และ การใช้ดุลพินิจลงโทษของผู้อํานวยการโรงเรียนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
- การรายงานการดําเนินการทางวินัยและการพิจารณากําหนดโทษที่เป็นการเพิ่มโทษ ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฯ แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทําโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ในสํานวนคดีแล้วเห็นว่า การดําเนินการ ทางวินัยในขั้นตอนดังกล่าวและการใช้ดุลพินิจในการกําหนดโทษแก่ผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง
สําหรับในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ใน 2 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก กระบวนการพิจารณาทางปกครองก่อนออกคําสั่งลงโทษทางวินัย (ในชั้นสืบสวน ข้อเท็จจริงและในชั้นสอบสวนทางวินัย) ได้ดําเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสําคัญ ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กําหนดไว้หรือไม่ ? (ซึ่งในขณะเกิดเหตุพิพาทได้นํากฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา มาใช้โดยอนุโลมตามนัยมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547) โดยในประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงและการดําเนินการ สอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน เป็นการดําเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสําคัญ ที่กฎหมายกําหนดไว้แล้ว โดยคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงได้รวบรวมข้อเท็จจริง และเห็นว่ากรณีมีมูล ที่ควรกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้อํานวยการโรงเรียนที่เกิดเหตุร้องเรียน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงมีอํานาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และการสอบสวนได้ดําเนินการ ตามข้อ 14 ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540)ฯ โดยคณะกรรมการสอบสวนได้เรียกผู้ฟ้องคดีมาชี้แจง หรือให้ถ้อยคําหรือให้ส่งเอกสาร และบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐาน ที่สนับสนุนข้อกล่าวหา และผู้ฟ้องคดีได้รับบันทึกดังกล่าวไปแล้ว จึงได้เสนอความเห็นให้ลงโทษตัดเงินเดือน
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาเกิดจาก เมื่อมีการรายงานการดําเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดี ไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฯ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฯ เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีกระทําผิดวินัย อย่างไม่ร้ายแรงและมีมติให้ลงโทษตัดเงินเดือน ผู้อํานวยการโรงเรียนแห่งใหม่จึงมีคําสั่งลงโทษตัดเงินเดือน ตามมติของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฯ
ศาลจึงต้องวินิจฉัยว่า การมีคําสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า การเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนไม่มีผลผูกพัน ในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยของผู้บังคับบัญชา และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฯ มีอํานาจตามมาตรา 104 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ในการพิจารณา ข้อเท็จจริงตามรายงานการสอบสวนทางวินัยโดยไม่ต้องผูกพันอยู่กับดุลพินิจการพิจารณากําหนดโทษของ ผู้อํานวยการของโรงเรียนแห่งแรกแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง พฤติการณ์หรือการกระทําของผู้ฟ้องคดีถือเป็นการกระทําที่มีความผิดทางวินัย หรือไม่ ?
โดยคดีนี้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า
- คู่มือการปฏิบัติงานครูงานวิชาการโรงเรียน ประจําปีการศึกษา 2548-2549 ที่ใช้อยู่ ในขณะเกิดข้อพิพาทกําหนดว่า ผู้สอนจะต้องพิจารณาผลการประเมินผู้เรียนระหว่างภาคเรียนว่า ผู้เรียน มีผลการประเมินในระดับใด หากผลการประเมินต่ํากว่าเกณฑ์หรือไม่ผ่านเกณฑ์ จะต้องดําเนินการให้มี การสอนเสริมและสอบซ่อมแก้ตัวให้กับนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ให้ผ่านการประเมิน หรือจัดกิจกรรมพัฒนา ผู้เรียน อันจะมีผลถึงผลการประเมินปลายภาคเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้สอนและ สอบรายวิชาดังกล่าว และรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประเมินผลผู้เรียนเป็นอย่างดี โดยจะต้องปรับปรุงแก้ไข นักเรียนที่มีข้อบกพร่อง เพื่อให้นักเรียนมีผลการประเมินเป็นคะแนนกลางภาคที่มีสัดส่วนคะแนนสูงกว่า ปลายภาค โดยมีคะแนนระหว่างภาคที่เหมาะสมอันจะมีผลถึงผลคะแนนรวมปลายภาค และในการสอน ซ่อมเสริมและสอบแก้ตัวก็จะต้องกําหนดวันเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้นักเรียนมาพร้อมกัน โดยทําเป็นหนังสือ หรือประกาศแจ้งให้นักเรียนทราบ
- จากใบแสดงคะแนนที่ผู้ฟ้องคดีจัดทําขึ้น ผลการสอบก่อนสอบกลางภาค คะแนนรวม 25 คะแนน มีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 50% จํานวน 8 คน ผลการสอบกลางภาค มีคะแนน 10 คะแนน ซึ่งจากผลการสอบ ไม่ปรากฏว่านักเรียนแต่ละคนได้คะแนนเท่าใด ปรากฏเพียงว่าซ่อมผ่านทุกคน ผลการสอบหลังกลางภาค คะแนนเต็ม 30 คะแนน มีผู้สอบได้คะแนนไม่ถึง 50% จํานวน 39 คน และในจํานวนดังกล่าวมีผู้ได้คะแนน 0 คะแนน จํานวน 8 คน
ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า จากคู่มือการปฏิบัติงานครูงานวิชาการโรงเรียน ที่ใช้อยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทและตามใบแสดงคะแนนที่ผู้ฟ้องคดีจัดทําปรากฏว่า การประเมินผลหลังเรียน มีผู้สอบได้คะแนนไม่ถึง 50% (15 คะแนน) จํานวน 39 คน และในจํานวนดังกล่าวมีผู้ได้คะแนน 0 คะแนน จํานวน 8 คน อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า ผลการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวไม่เป็นไปตามผลการเรียนรู้ ที่คาดหวัง ซึ่งผู้ฟ้องคดีจะต้องนําข้อมูลดังกล่าวมาปรับปรุง แก้ไข ซ่อมเสริมผู้เรียนให้บรรลุผลการเรียนที่คาดหวัง การไม่ดําเนินการดังกล่าวย่อมส่งผลโดยตรงทําให้นักเรียนมีผลการเรียนเป็น 0 จํานวน 21 คน จากนักเรียน ทั้งหมด 47 คน จึงเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กําหนดในเอกสารคู่มือการปฏิบัติงานครู งานวิชาการโรงเรียนที่ใช้อยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท
การกระทําของผู้ฟ้องคดีถือได้ว่านักเรียนจํานวนดังกล่าวได้รับความเสียหายโดยตรง และ เสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ (โรงเรียน) โดยส่วนรวม ทําให้สังคมเสื่อมศรัทธาต่อวิชาชีพครู พฤติการณ์จึงเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547
ดังนั้น การที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดฯ เห็นว่า การกําหนดโทษของผู้บริหาร สถานศึกษาของโรงเรียนแห่งแรกยังไม่เหมาะสมแก่การกระทําความผิด จึงมีมติให้ลงโทษตัดเงินเดือน ผู้ฟ้องคดี 5% เป็นเวลา 3 เดือน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อโรงเรียนแห่งใหม่
โดยผู้อํานวยการได้มีคําสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้ฟ้องคดี 5% เป็นเวลา 3 เดือน ตามมติของคณะกรรมการ ศึกษาธิการจังหวัดฯ จึงเป็นการกระทําโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อคณะกรรมการข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติให้ยกอุทธรณ์จึงเป็นการกระทําโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ในประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าได้ทําการสอนโดยยึดถือคู่มือแนะนํานักเรียนเกี่ยวกับ การประเมินผลการเรียนฯ ในปีการศึกษา 2539 ที่ได้รับมาตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งไม่มีการระบุให้ต้อง ปรับปรุง แก้ไข หรือซ่อมเสริมผู้เรียนแต่อย่างใด โดยตนไม่เคยได้รับหรือรับทราบว่ามีคู่มือการปฏิบัติงานครู งานวิชาการโรงเรียน ปีการศึกษา 2548-2549 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาท ซึ่งศาลเห็นว่าข้ออ้างของ ผู้ฟ้องคดีไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากคู่มือการปฏิบัติงานครูงานวิชาการโรงเรียน ปีการศึกษา 2548-2549 ได้นํา แนวปฏิบัติการประเมินผลการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มากําหนดไว้ ซึ่งจัดทําขึ้นเพื่อประโยชน์สําหรับครูทุกคนอันจะช่วยสร้างความเข้าใจในการทํางานการสอน โดยได้กําหนดแนวทางและหน้าที่ในการประเมินผลการเรียนให้ครูผู้สอนไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีการ กําหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ในเอกสารการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วย เมื่อผู้ฟ้องคดีรับผิดชอบการสอนรายวิชาเสริมทักษะคณิตศาสตร์ จึงมีหน้าที่ต้องดําเนินการตามแนวทาง ที่กําหนดไว้ การที่ผู้ฟ้องคดีมิได้ดําเนินการจึงถือเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงานครู งานวิชาการโรงเรียน ปีการศึกษา 2548-2549
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสําหรับข้าราชการครูว่า
(1) การปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน นอกจากครูจะมีหน้าที่โดยตรงในการ ให้ความรู้เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในรายวิชาที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบแล้ว การดําเนินการจัดให้มี การสอนเสริม การสอบซ่อมแก้ตัว หรือการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถหรือทักษะให้กับนักเรียน ที่มีผลคะแนนจากการสอบต่ํากว่าเกณฑ์หรือไม่ผ่านเกณฑ์เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในรายวิชาดังกล่าวดียิ่งขึ้น ถือเป็นหน้าที่ที่สําคัญเช่นเดียวกัน เนื่องจากการสอบวัดระดับความรู้ของนักเรียนทั้งในระหว่างภาคเรียนและ หลังจบภาคเรียน นอกจากจะเป็นการประเมินความรู้ของนักเรียนแล้ว ยังเป็นการประเมินประสิทธิภาพและ ประสิทธิผลการสอนของครูผู้สอนอีกด้วย และหากข้าราชการครูคนใดละเว้นหน้าที่ไม่ทําการสอนเสริม การสอบซ่อมหรือจัดให้มีกิจกรรมที่เป็นการเพิ่มพูนและพัฒนาความรู้ จนส่งผลโดยตรงทําให้นักเรียนมีผลการสอบ หรือมีคะแนนต่ํากว่าเกณฑ์หรือไม่ผ่านเกณฑ์เป็นจํานวนมาก และทําให้โรงเรียนและครูท่านอื่นได้รับความเสียหาย ในทางชื่อเสียงและเสียภาพลักษณ์แล้ว ย่อมถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นการกระทําผิดวินัยไม่ร้ายแรงดังเช่นข้าราชการครูในคดีนี้ เป็นต้น
(2) กรณีมีการร้องเรียนกล่าวหาข้าราชการครูผู้ใดว่ากระทําผิดวินัย ผู้อํานวยการโรงเรียน ในฐานะผู้บังคับบัญซาย่อมมีอํานาจสั่งให้ดําเนินการสืบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่ากรณีมีมูลตามที่กล่าวหาหรือไม่ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนก่อนการดําเนินการสอบสวนทางวินัยเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของ ผู้อํานวยการโรงเรียน ส่วนการจะดําเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ นั้น เป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา ที่จะพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวน ซึ่งหากเป็นกรณีที่มีมูลว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้อํานวยการโรงเรียนจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงเพื่อสอบสวนทางวินัยต่อไป ทั้งนี้ ในการดําเนินการสอบสวนดังกล่าว คณะกรรมการสอบสวนมีดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งผลการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาอาจเป็นได้ทั้งไม่มีความผิดทางวินัย หรือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือไม่ร้ายแรง แล้วแต่กรณี แต่ในส่วนของการเสนอความเห็นไว้ในรายงานการสอบสวนนั้น ถือเป็นเพียง การเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนซึ่งไม่มีผลผูกพันในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยของผู้ที่มีอํานาจ พิจารณาลงโทษข้าราชการครูผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
(ผู้ที่สนใจรายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้จากคําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 164/2560)
ขอบคุณที่มาของข้อมูลจาก : คอลัมน์รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดย นางสมฤดี ธัญญสิริ รองเลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง
อ่านเรื่องราวอื่นๆได้ที่ : ครูอัพเดตดอทคอม